24 April 2024


ผลตรวจสอบชัด!“ฟาร์มโชคชัย”เขาใหญ่ออกโฉนดฮุบทางสาธารณะ ชงเพิกถอน 10 แปลง

Post on: Jul 13, 2016
เปิดอ่าน: 5,330 ครั้ง

ที่ดินโคราชเตรียมชงเรื่อง “ฟาร์มโชคชัย” เขาใหญ่ ออกโฉนดที่ดิน 10 แปลง รุกล้ำทับทางสาธารณะ กว่า 2 กม. เข้าที่ประชุม กบร.จังหวัด เพื่อเสนอ “อธิบดีกรมที่ดิน” เข้าสู่กระบวนการเพิกถอน หลังกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผู้ว่าฯ สั่งแต่งตั้งขึ้น สรุปผลตรวจสอบฟันธง“ฟาร์มโชคชัย”ออกโฉนดฮุบทางสาธารณะจริง

นายไพโรจน์ ที่ดินจังหวัดนม-web1

วันนี้ (13 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า  การตรวจสอบที่ดิน ของ“ฟาร์มโชคชัย” กรณีชาวบ้านบ้านหินเพลิงหมู่ 1 ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  ร้องเรียนว่า ฟาร์มโชคชัยออกโฉนดที่ดินพื้นที่ริมแนวเขาใหญ่กว่า 200 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ในจำนวนนี้ได้ออกโฉนดจำนวน 10 แปลง ทับทางสาธารณะประโยชน์ ขนาดความกว้างถนนประมาณ 6-8 เมตร เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร(กม.) เชื่อว่าเป็นการโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ ปี 2544-2548  และ ล่าสุดนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สั่งตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง  โดยมี นายอำเภอปากช่อง เป็นประธานคณะกรรมการ และกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ นั้น

 ล่าสุด นายไพโรจน์  บัวน่วม เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา  เปิดเผยถึงว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและสรุปผลรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบแล้ว โดยผลสรุประบุว่า ตามที่มีข้อสงสัยนั้นจากการตรวจสอบพบว่ามีการออกโฉนดที่ดินรุกล้ำทางสาธารณะประโยชน์จริง และเมื่อมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐระดับจังหวัดนครราชสีมา (กบร.) ซึ่งจะได้เสนอบรรจุเข้าวาระการประชุมในคราวหน้านี้  เนื่องจากการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมานำเข้าที่ประชุมไม่ทันเพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้คณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมได้พิจารณาอย่างละเอียดครบถ้วน  คาดว่าการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นภายในเดือน ก.ค.นี้

สำหรับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการระบุว่า ทางสาธารณะดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 6 -8 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ตรงตามการตรวจสอบเบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ชี้แนวเขตถนนร่วมกับผู้น้ำท้องถิ่น และกลุ่มชาวบ้านที่ร้องเรียน

แนวเขตทางสาธารณะ-web1

อย่างไรก็ตาม ต้องนำหลักฐานเดิมเข้ามาประกอบการพิจารณาของการประชุม กบร.ด้วย เพราะมีข้อสงสัยหลายประการ เช่น ทำไมเมื่อตอนที่ออกเอกสารสิทธิครั้งแรกไม่มีใครมาคัดค้านหรือแย้ง เพราะการออกเอกสารสิทธิ ตั้งแต่เริ่มแรกเป็นการออกให้ชาวบ้านไม่ใช่นายทุน เรื่องนี้จะต้องมีการถกเถียงกันในที่ประชุมอีกครั้ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอผลการประชุมของ กบร. หากมีมติให้มีการเพิกถอน จะรายงานข้อมูลความเห็นต่างๆ ประกอบกับผลการสอบข้อเท็จจริง ไปยังอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป ซึ่งคงไม่ใช่เป็นการเพิกถอนแบบยกแปลง ทั้ง 10 แปลง แต่ละแปลงคงเพิกถอนเฉพาะส่วนที่รุกล้ำหรือทับทางสาธารณะประโยชน์เท่านั้น

“ ขอย้ำว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องมีความชัดเจนโปร่งใส ชี้แจงได้ เพราะเรื่องนี้มีผู้เสียหาย หน่วยงานรัฐต้องให้ความเป็นกับทุกฝ่าย มิฉะนั้นอาจถูกฟ้องร้องในภายหลังได้  นายไพโรจน์ กล่าวในตอนท้าย