28 March 2024


ภัยปิดเทอม! ห่วงสถิติเด็กจมน้ำอีสานพุ่ง แนะผู้ปกครองใส่ใจ

Post on: Mar 7, 2016
เปิดอ่าน: 2,376 ครั้ง

ห่วงปิดเทอมฤดูร้อนสถิติเด็กจมน้ำพุ่ง แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน เผย 4 จ.อีสานล่างเด็กจมน้ำตาย 97 รายในปี 2558 ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 15 ปี ชี้เด็กเล็กตายเพราะถังและกาละมังน้ำ แนะป้องกันโดยใช้หลัก เทน้ำ  กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลอดเวลา ขณะที่เด็กโตมักเกิดจากการชวนเพื่อนไปเล่นน้ำคลายร้อน วิธีป้องกัน “ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือปฐมพยาบาล” 

ฝึกลอยตัวในน้ำ-web1

วันนี้ (7 มี.ค.) นพ.ธีรวัฒน์  วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงปิดภาคเรียนซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน มักจะพบสถิติการจมน้ำของเด็กและเยาวชนสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยพบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งมีจำนวนการเสียชีวิตสูงมากกว่าโรคติดต่อนำโดยแมลงและไข้เลือดออกถึง 14 เท่าตัว จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าทุกๆ 8 ชั่วโมง จะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 1 คน โดยเฉลี่ยทุกๆ 1 เดือนประเทศไทยสูญเสียเด็กจากการจมน้ำเสียชีวิตมากกว่า 90 คน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549-2558) ประเทศไทยสูญเสียเด็กไปแล้วถึง 10,923 คน

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในเขตบริการสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำในปี 2558 รวม 97 ราย แยกเป็นรายจังหวัดดังนี้ จังหวัดสุรินทร์ พบเด็กจมน้ำมากสุด  37 ราย  จังหวัดนครราชสีมา พบเด็กจมน้ำ 27 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ พบเด็กจมน้ำ  23 ราย  และจังหวัดชัยภูมิ พบเด็กจมน้ำ  10  ราย

นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากจมน้ำ พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554 – 2558) กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี พบจมน้ำเสียชีวิตสูงเฉลี่ยถึงปีละ 192 คน คิดเป็นร้อยละ 21 ของกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั้งหมด ภาชนะที่มักพบว่าเด็กกลุ่มนี้จมน้ำบ่อย ได้แก่ ถังน้ำ ถังสี กะละมัง กระติกน้ำ โอ่ง และอ่างอาบน้ำในห้องน้ำ ภายในบ้านและในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือแม้แต่สระว่ายน้ำภายในบ้านของตนเอง ซึ่งพบว่าเด็กเล็กมักจะจมน้ำในภาชนะที่มีน้ำเล็กน้อยประมาณ 1-2 นิ้วเท่านั้น

นพ ธีรวัฒน์  วลัยเสถียร-web1

สำหรับสาเหตุการจมน้ำมักเกิดจากผู้ดูแลเด็กทำกิจกรรมบางอย่างเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น เข้าห้องน้ำ ทำกับข้าว คุยโทรศัพท์ เปิด-ปิดประตูบ้าน เพียงระยะเวลาไม่กี่นาที ประกอบกับขาดการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในบ้าน ซึ่งไม่คิดว่าแหล่งน้ำดังกล่าวจะเป็นอันตรายเพราะมีระดับน้ำเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้จากข้อมูลย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มีนาคม – พฤษภาคม) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด ในบางปีมีจำนวนสูงเกือบ 400 คน ส่วนเดือนที่จมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดคือเมษายน เฉลี่ย 134 คน โดยช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในปี 2558 ที่ผ่านมา มีข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 250 คน และเด็กมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆ คน เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาตัวรอดในน้ำ และวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จึงมักกระโดดลงไปช่วยคนที่ตกน้ำ

ดังนั้นจึงขอให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กให้ความระมัดระวังและร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ ส่วนการป้องกันการจมน้ำในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) คือ “เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลอดเวลา”  สำหรับเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี) คือ“ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล”  สำหรับการปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง โดยห้ามจับเด็กอุ้มพาดบ่า แล้วกระแทกเพื่อเอาน้ำออกช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม และเข้าสู่หน้าร้อน ขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลบุตรหลานให้มากขึ้น ไม่ควรปล่อยเด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง โดยเฉพาะบริเวณริมตลิ่ง ชายทะเล น้ำตก ซึ่งประเทศไทยมีการตกน้ำ จมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ จึงควรเพิ่มความระวังแก่บุตรหลาน

รวมถึงไม่ปล่อยให้เด็กเล็กเล่นน้ำในอ่างน้ำหรืออยู่ในห้องน้ำโดยไม่มีผู้ดูแล ไม่ให้เด็กเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคยตามลำพัง แม้เด็กจะว่ายน้ำ เนื่องจากแหล่งน้ำแต่ละแห่งมีความลึก ความชัน และความแรงของกระแสน้ำที่ต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ไม่ประกอบกิจกรรมอื่นขณะดูแลเด็กเล่นน้ำ อาทิ คุยโทรศัพท์ พิมพ์ข้อความ เล่นเกม แม้จะละสายตาจากเด็กในช่วงเวลาสั้นๆ นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว