29 March 2024


ระบาดหนัก! อีสานล่างป่วย “โรคมือเท้าปาก” พุ่งกว่า 1,500 ราย โคราชมากสุดแนะดูแลเด็กเล็ก

Post on: Jul 6, 2016
เปิดอ่าน: 80,237 ครั้ง

โรคมือเท้าปากระบาดหนัก อีสานล่างพบป่วยแล้วกว่า 1,500 รายโคราชมากสุดจังหวัดเดียวเฉียด 1,000 ราย เตือนศูนย์เด็กเล็ก และชั้นอนุบาล ระวังเด็กป่วย ชี้สภาพอากาศชื้นส่งผลให้โรคระบาดสูง

images3                   images1

วันนี้ (6 ก.ค.) นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคมือเท้าปาก ว่าในช่วงหน้าฝนหรือช่วงเปิดเทอม เป็นช่วงที่มีอัตราการระบาดของโรคนี้สูง เนื่องจากสภาพอากาศชื้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการระบาดของโรค เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ มักมีอาการไข้ เจ็บปาก กินอาหารไม่ค่อยได้ เพราะมีแผลในปาก และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ตามปกติแล้วโรคนี้ไม่ใช่โรคที่มีความรุนแรง มักป่วยประมาณ 7 – 10 วัน และหายได้เอง แต่ก็มีไวรัสบางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้

images2images4

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์โรคมือเท้าปากในเขตสุขภาพที่ 9 (จ.นครราชสีมา จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ จ.ชัยภูมิ) ว่า ตั้งแต่วันที่  มกราคม – มิถุนายน 2559 พบว่ามีป่วยโรคมือเท้าปากจำนวน 1,591 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย  241 ราย  จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 229  ราย    จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 865 ราย   จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 256 ราย

สำหรับโรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่มักพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น ในศูนย์เด็กเล็ก และในชั้น อนุบาล สามารถติดต่อกันได้ง่ายเพียงไอจาม การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ

นพ ธีรวัฒน์ ผอ สคร 9-web1

ทั้งนี้ขอให้ศูนย์เด็กเล็ก หรือครูพี่เลี้ยง รวมทั้งผู้ปกครอง หมั่นสังเกตอาการของเด็ก หากพบว่าเด็กมีไข้ ร่วมกับมีแผลในปาก และตุ่มที่มือหรือเท้า แต่บางรายอาจมีเฉพาะไข้ หรือมีแผลในปากแต่ไม่มีตุ่มที่มือหรือเท้าก็ได้ ควรให้หยุดเรียน และไม่ไปเล่นคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ หากมีการระบาดเกิดขึ้นหลายราย โรงเรียนควรพิจารณาปิดชั้นเรียนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดห้องเรียน ของเล่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยใช้สบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาล้างทำความสะอาดทั่วไป แยกสิ่งของบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า หลอดดูด ควรสอนให้เด็กใช้ช้อนกลาง ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมทั้งหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม เตือนครูประจำชั้น และครูพี่เลี้ยงคัดกรองเด็กป่วย ได้แก่ เด็กที่มีไข้ หรือเด็กที่มีผื่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือมีแผลในปาก ให้กลับไปพักที่บ้านหรือไปโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะหายดี เพราะอาจติดต่อกันได้  หากพบว่าเด็กมีอาการซึม อ่อนแรง ชักกระตุก เดินเซ หอบ อาเจียน ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน