18 April 2024


ยังไม่จบ ! ปธ.กรรมการสิทธิฯ ลุยพื้นที่แก้ปม “มทส.” ฮุบที่ทำกินชาวบ้าน 887 ไร่ยืดเยื้อมา 28 ปี

Post on: Jan 20, 2017
เปิดอ่าน: 1,257 ครั้ง

 

ยังไม่จบ! ปธ.กรรมการสิทธิฯ นำคณะลงพื้นที่ประชุมหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาพิพาท มทส.ฮุบที่ดินทำกินชาวบ้าน 887 ไร่ ยืดเยื้อมานานกว่า 28 ปี ขณะชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 300 คน มายืนชูป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรม สุดท้ายผลหารือยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนนัดถกใหม่อีกครั้ง

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web1

วันนี้ (19 ม.ค.) โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดยนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ปธ.กสม.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เพื่อประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินข้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา, กองทัพภาคที่ 2, ตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง, เทศบาลตำบลสุรนารี และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมประชุมหารือ โดยมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 300 คน มาถือป้ายชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรม อยู่ด้านนอกห้องประชุม

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมนอกสถานที่ครั้งแรก ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ตั้งแต่เริ่มทำงานมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้แก้ไขปัญหาเรื่องบุกรุกที่ดินป่าไม้ไปได้แล้วถึง 19 เรื่อง บางเรื่องมีปัญหามายาวนานกว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะคอยเป็นผู้เชื่อมกลางระหว่างประชาชน กับหน่วยงานของรัฐที่กำลังมีข้อพิพาทกัน ให้สามารถยุติปัญหาได้และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web2
ส่วนเรื่องข้อพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านกับ มทส.นั้น มีข้อพิพาทกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2532 รวม ระยะเวลากว่า 28 ปีแล้ว ตนมองว่าน่าจะมีทางออก เพราะที่ดินมีจำนวนจำกัดแต่ประชากรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในวันนี้จะมาพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป

สำหรับปัญหาดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากเมื่อปี 2532 กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ทบวงมหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง เนื้อที่ 6,911 ไร่ 3 งาน 64 ตร.ว. ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.ไชยมงคล และ ต.บ้านใหม่ (ต.สุรนารี ในปัจจุบัน) อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี แต่การประกาศเขตป่าสงวนฯ ดังกล่าวยังมีปัญหาต่อสู้กันอยู่ เนื่องจากเป็นการประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่ถือครอง ทำกินมาก่อนที่กรมป่าไม้จะประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยชาวบ้านมีเอกสารสิทธิที่ทางราชการออกให้ในพื้นที่ 887 ไร่ รวม 147 ราย เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส.3 ก., ส.ค.1, ภบท.8, ภบท.9, ภบท.11, ภบท.6 และ ภบท. 5

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web3

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web4ต่อมาปี 2546 มีคำสั่งของจังหวัดนครราชสีมา แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและตรวจสอบข้อมูลปัญหาที่ดินของมหาวิทยาลัยฯ โดยมีคณะทำงาน 14 คน มีตัวแทนชาวบ้าน 3 คน ได้ประชุมพิจารณาเพื่อหาข้อยุติหลายครั้ง มติที่ประชุมเมื่อ 2 เม.ย. 2548 เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ว่า ขอให้ มทส.ส่งคืนที่ดินบริเวณพิพาทเนื้อที่ 1,086 ไร่ 240 ตร.ว. ให้กรมป่าไม้และขอให้กรมป่าไม้ส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินพิจารณาจัดสรรให้กับราษฎรให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ซึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น (นายพงศ์โพยม วาศภูติ) ได้พิจารณาและลงนามเห็นชอบ

ต่อมาปี 2550 กลุ่มชาวบ้านได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่นิติกรของ มทส. เจ้าหน้าที่ปาไม้เขตนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินการปักแนวเขตที่ดินและเว้นถนนขนาดความกว้าง 10 เมตร ระหว่างแนวรั้วมหาวิทยาลัยฯ กับที่ดินที่ชาวบ้านที่ครอบครอง ตั้งแต่จุดริมแนวรั้วประปาประตู 4 ถึงแนวรั้วฟาร์มเกษตรสาธิต ฟาร์มวัว จนถึงลำห้วย ระยะทางยาวกว่า 2.50 กิโลเมตร (กม.) โดยมีการปักหลักเขตที่ดินไว้ชัดเจน

จากนั้นชาวบ้านได้ทำกินในพื้นที่ของตนเองมาโดยตลอด เพื่อรอหน่วยงานรัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามมติดังกล่าว

ต่อมาทาง มทส.ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญ คือ หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้มีการแก้ไขประกาศกรมป่าไม้ฉบับที่ 32/2532 ลงวันที่ 28 มี.ค. 2532 และ เงื่อนไขแนบท้ายประกาศกรมป่าไม้ ให้ มทส.ใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง เพื่อเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยฯ เนื้อที่ 6,024 ไร่ 2 งาน 9 ตารางวา (ตร.ว.) จากเดิมขอใช้พื้นที่ 6,911 ไร่ 3 งาน 64 ตร.ว.

ปี 2557 ทาง มทส.ได้นำเรื่องเดิมเสนอให้ทางจังหวัดฯพิจารณา ทางจังหวัดฯ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการถือครองที่ดินในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยฯที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง โดยมีการแต่งตั้งผู้แทนของกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) เป็นที่ปรึกษา

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2557 กำลังทหารจาก ทภ.2 ได้เข้ามาตรวจสอบที่ดินโดยนำรถแบ็กโฮมาขุดทำคันดินเพื่อจัดทำแนวเขตล้อมรั้วลวดหนาม แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านไว้ หวิดมีการปะทะกันโดยชาวบ้านได้ปักหลักกางเต็นท์ไม่ให้ทหารเข้ามาดำเนินการได้

ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาได้มีทหารเข้ามาล้อมรั้วในพื้นที่และนำรถแบ็กโฮมาขุดร่องติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยยาง จนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องลงพื้นที่ มาประชุมร่วมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันในครั้งนี้ โดยการหารือครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งจะนัดหารือกันอีกครั้ง

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web5

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web6

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web7

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web8

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web9

แก้ปมพิพาทที่ดินมทส-web10