25 April 2024


(ชมคลิป)รฟท.เสนอแนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายจิระโคราช-อุบลฯ 3.3 หมื่น ล.จุดตัด 131 จุดยึดสถานีเดิม

Post on: Nov 2, 2015
เปิดอ่าน: 1,574 ครั้ง

รฟท.เปิดเวทีรับฟังความเห็นเส้นทางรถไฟสายจิระโคราช -อุบลฯ รอบ 2 ระยะทางกว่า 300 กม. ใช้งบก่อสร้างกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท เผยยึดสถานีจอดเดิม 34 แห่ง เสนอ 4 ทางเลือกออกแบบจุดตัด 131 แห่ง  คาดสรุปผลการศึกษา  ม.ค.59  คาดเริ่มก่อสร้างต้นปี 60 ใช้เวลา 4 ปีแล้วเสร็จ

นายวรรณพ 2-web1

วันนี้ (2 พ.ย.)ที่โรงแรมซิตี้พาร์ค อ.เมือง จ.นครราชสีมา  นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน  (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 2 งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่  ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เพื่อนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการศึกษาโครงการในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน

นายวรรณพ 2-web2

รฟท-web7

นายวรรณนพ  ไพศาลพงศ์ รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้นำเสนอแนวเส้นทางโครงการ จากสถานีชุมทางถนนจิระ –อุบลราชธานี มีระยะทางประมาณ 305 กม. โดยใช้แนวเส้นทางรถไฟเดิม เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมทั้งแนวทางราบและทางดิ่ง สามารถปรับองค์ประกอบให้รองรับกับความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. โดยไม่ต้องมีการกันเขตทางรถไฟเพิ่มเติม และใช้ตำแหน่งสถานีที่ตั้งตามสถานีเดิม จำนวนทั้งหมด 34 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่เข้าถึงและสะดวกสบายในการเดินทางทั้งสองฝั่งของระบบราง และมีจุดตัดทั้งหมด 131 จุด มีแนวทางแก้ปัญหาจุดตัดทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่  1.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง (Overpass) 2.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในลักษณะรูปตัวยู (U-Shape Overpass) 3.ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ  (Box Culvert) 4..ยกระดับทางรถไฟ (Elevated Railway) และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อป้องกันคนหรือสัตว์ข้ามทางรถไฟตัดหน้าขบวนรถ

รฟท-web5

นอกจากนี้ได้แบ่งรูปแบบการให้บริการ ได้แก่ 1.บริการรถโดยสารทางไกลด้วยขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถด่วนขบวนรถเร็ว 2.บริการรถโดยสารทางใกล้ด้วยขบวนรถไฟท้องถิ่นและขบวนรถธรรมดา ซึ่งแนวเส้นทางเดิมส่วนใหญ่ไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว เช่น พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด จึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย สำหรับงบประมาณการก่อสร้างในเส้นทางดังกล่าวคาดว่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท  จ้างที่ปรึกษาในการออกแบบเส้นทางกว่า 200 ล้านบาท หากอีไอเอผ่านคาดว่าจะก่อสร้างได้ประมาณ ตั้งปี 2560 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี

รฟท-web6

รฟท-web8

นายวรรณนพ  กล่าวอีกว่า  จ.นครราชสีมา เป็นเมืองเศรษฐกิจ อันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางขนส่งสินค้าของภูมิภาคที่สำคัญ ซึ่งจากคาดการณ์ปริมาณจำนวนผู้โดยสารเดินทางโดยรถไฟจาก จ.นครราชสีมา-อุบลราชธานี ปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 3.53 ล้านคน/ปี เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2569 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มเป็น 7.838 ล้านคน /ปี ในปี พ.ศ. 2579 เพิ่มเป็น 9.360 ล้านคน/ปี และในปี พ.ศ. 2598 เพิ่มเป็น 12.620 ล้านคน/ปี อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาเดินทางจากเดิม 5 ชม. 30 นาที เป็น 3 ชม. 15 นาที และจากผลคาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้า ตลอดแนวเส้นทางโครงการ ปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 108,000 ตัน/ปี เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2569 จะมีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 941,800 ตัน/ปี ในปี พ.ศ.2579 เพิ่มเป็น 1,158,000 ตัน/ปี และในปี พ.ศ.2598 เพิ่มเป็น 1,553,200 ตัน/ปี โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ข้าวสาร  มันสำปะหลังแปรรูป น้ำตาล รวมถึงสินค้าในกลุ่มซีเมนต์

รฟท-web4

รฟท-web3

ทั้งนี้ รฟท.ได้มีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนขึ้นอีก 2 จังหวัด คือที่ จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี ในวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2558  หลังจากนั้นจะมีการประชุมกลุ่มย่อย และจัดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3  เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาของโครงการ ในช่วงประมาณต้นปี พ.ศ. 2559 โดยภายหลัง รฟท .จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมประชุม ไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการ เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

รฟท-web2

รฟท-web1