18 April 2024


ร.ฟ.ท.ลุยต่อรถไฟทางคู่จิระ-อุบล 4 หมื่นล้าน ดันโคราชศูนย์กลางเชื่อมลาว-เวียดนาม

Post on: Aug 3, 2015
เปิดอ่าน: 751 ครั้ง

01 

ร.ฟ.ท. เดินหน้าลุยต่อรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระโคราช -อุบลฯ เป็นศูนย์กลางขนส่งโลจิสติกส์อีสาน จ้างบริษัทที่ปรึกษากว่า 220 ล้าน ศึกษาออกแบบ คาดใช้งบสร้างกว่า 4 หมื่นล้านลงมือได้ปลายปี’59  เผยส่วนเส้นทางจิระ-ขอนแก่น บรรจุในแผนระยะเร่งด่วนลงมือสร้างปลายปี’58 มีเพียงมาบกะเบา-จิระ ยังไม่ผ่าน EIA เตรียมยื่นใหม่ ด้านผู้ว่าฯชี้ดันโคราชเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมเพื่อนบ้าน ลาว-เวียดนาม

 วันที่ 25 มิ.ย.2558 นายวรรณนพ  ไพศาลพงศ์ รองวิศกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เป็นเส้นทางหนึ่งตามแผนการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ของกระทรวงคมนาคม ที่จะก่อสร้างปรับปรุงทางรถไฟช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา ถึงสถานีอุบลราชธานี จากทางเดี่ยวให้เป็นทางคู่ โดยมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน  เมษายน 2558-เมษายน 2559

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้าง 3 บริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอดน์ เมนเนจเม้นท์ จำกัด บริษัททีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด และ บริษัทดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด เพื่อ ศึกษาความเหมาะสม สำรวจออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA)  โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทางประมาณ 309 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 220 ล้านบาท

 ล่าสุดได้มีการประชุมเสนอ ขอบเขตการดำเนินการ แผนการดำเนินโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ที่ จ.นครราชสีมา

โดยได้นำเสนอสาระสำคัญโครงการ คือ ด้านวิศวกรรมและการออกแบบแนวเส้นทางจะพัฒนาให้เป็นระบบรถไฟด่วนความเร็ว 160 กม./ชม. โดยใช้รางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) แต่ต้องมีการปรับรัศมีโค้งเป็นบางช่วง เพื่อให้รองรับอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ซึ่งจะสร้างทางเพิ่มขึ้น 1 ทางเพื่อวิ่งคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ เมื่อพ้นจากสถานีชุมทางถนนจิระ (จ.นครราชสีมา) และไปสิ้นสุดที่สถานีอุบลราชธานีระยะทางรวมประมาณ 309 กิโลเมตร ประกอบด้วย34 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) ผ่านพื้นที่ 16 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์  จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี ตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้พาดผ่านพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายวรรณนพ กล่าวอีกว่า การพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จะช่วยส่งเสริมให้จ.นครราชสีมา เป็นศูนย์กลางด้านขนส่งโลจิสติกส์ที่ช่วยขนส่ง ถ่ายเทสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตร อาทิ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล ฯลฯ ที่สำคัญของภาคอีสาน และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน  การเดินทางและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ที่กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ของ จ.นครราชสีมา ให้มีการเติบโตมากขึ้น และกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

นอกจากนี้ในอนาคตถ้ามีการต่อขยายแนวเส้นทางจากสถานีอุบลราชธานี ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ไปยังบริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว จะทำให้แนวเส้นทางนี้ช่วยทำหน้าที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามระเบียบเศรษฐกิจในแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของไทยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบโครงการฯ

 “ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดกว่า 40,000 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้และปลายปี 2559 น่าจะจ้างเหมาเอกชนลงมือก่อสร้างได้” นายวรรณนพ กล่าว

 นายวรรณนพ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม.ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท นั้น ขณะนี้ยังไม่ผ่าน EIA ซึ่งเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาไปแล้ว 2 รอบแต่ยังไม่ผ่านจึงอยู่ระหว่างการแก้ไขโดยทางคณะกรรมการฯ บอกว่าเป็นการผ่านพื้นที่อนุรักษ์ จึงได้มีการปรับแก้ทำเป็นอุโมงค์ในช่วงสระบุรี โดยต้องกันพื้นที่สัมปทานของบริษัทเอกชนในการระเบิดหินให้ออกห่างเส้นทางรถไฟด้วย ซึ่งทางเอกชนให้ความร่วมมือดีไม่ปีปัญหา

ฉะนั้นจึงเสนอคณะกรรมการฯ กลับเข้าไปอีกครั้ง หากผ่าน EIA  ก็ไม่น่าจะมีปัญหา และ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. งบประมาณการก่อสร้างกว่า 26,000 ลานบาท บรรจุอยู่ในแผนระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง ของรัฐบาลที่มีการอนุมัติโครงการแล้วคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2558 นี้ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีจะแล้วเสร็จ  หากทุกโครงการแล้วเสร็จการเชื่อมโยงอีสานกับภาคกลางได้ทั้งหมด

 ด้าน นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนงาน 10 ปีที่โคราชต้องมี ซึ่งหากโครงการดำเนินการเป็นรูปธรรมจะส่งผลดีต่อจ.นครราชสีมาโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าเกษตรผ่านทางรถยนต์จำนวนมาก แต่มีผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังซึ่งจ.นครราชสีมาเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดกว่า 1.9 ล้านไร่ส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบังและอยุธยา ขณะนี้กลุ่มโรงแป้งมันขนส่งระบบรางอยู่แล้ว แต่หากระบบรถไฟรางคู่สำเร็จจะสามารถเปลี่ยนจากระบบขนส่งระบบทางรถยนต์ไปใช้ระบบรางทั้งหมด ลดต้นทุนการขนส่ง ประหยัดเวลาและปลอดภัย ลดความแออัดบนทางหลวง ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง มีความสะดวกในการขนส่ง

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆที่จะได้ผลประโยชน์ ซึ่งนครราชสีมามีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 3,000 แห่ง เฉพาะโปแตสที่ อ.พิมาย ส่งออกหลายพันตันต่อปี ไปที่ จ.ระยอง ซึ่งใช้การขนส่งทางรถยนต์ หากมีระบบรางเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะไปใช้บริการทั้งสิ้น หรือแม้แต่ช่วงที่มีการก่อสร้างคาดว่าจะมีการจ้างงานเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก แต่ไม่อยากให้มองแค่ที่ จ.นครราชสีมาเท่านั้นจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวแต่ประชาชนชาวอีสานอีก 19 จังหวัดภาคอีสาน รวมเวียดนามและสปป.ลาวก็ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น

“โคราชไม่เหมือนจังหวัดใหญ่อื่นๆ แต่เป็นจุดเชื่อมของภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านต้องผ่าน จ.นครราชสีมา แม้แต่เส้นทางท่องเที่ยวหากมีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นก็สามารถนั่งรถไฟข้ามไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านและเดินทางกลับมาได้ในวันเดียว” นายธงชัย กล่าวในตอนท้าย