19 April 2024


แก้วิกฤติจราจรโคราช! เปิดเมกะโปรเจคต์ 1.5 หมื่นล้านผุด “รถไฟฟ้ารางเบา” LRT ให้บริการปี66

Post on: May 1, 2017
เปิดอ่าน: 3,898 ครั้ง

 

สนข.เร่งศึกษาแผนแม่บทแก้ปัญหาจราจรโคราช หลังเมืองเติบโตรวดเร็ว ชี้รถไฟรางเบาหรือ LRTเหมาะสมที่สุดคาดใช้งบก่อสร้าง 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเส้นทางออก 3 สายสีเขียว ส้ม ม่วง ค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท เผยเปิดเวทีรับฟัง 2 ครั้งชาวโคราชตอบรับดีพร้อมหนุนให้เกิดเป็นรูปธรรม คาดเฟสแรกเปิดใช้งานได้ในปี 66

รถไฟฟ้ารางเบา-web1

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะยาวเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ด้านคมนาคมขนส่งทางบก จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองหลักเมืองหนึ่งในภูมิภาคที่มีปัญหาด้านการจราจรและขนส่ง มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประตูสู่ภาคอีสาน เป็นที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งลักษณะดังกล่าวทำให้จังหวัดนครราชสีมาเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เกิดปัญหาการกระจุกตัวของปริมาณความต้องการด้านการขนส่งและการเดินทางที่หนาแน่น โดยเฉพาะปัญหาการจราจรในช่วงเทศกาลสำคัญของประเทศ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่จำกัดทำให้ความสามารถในการกระจายสินค้าและบริการ ตลอดทั้งการขนส่งสาธารณะเกิดความไม่คล่องตัว รวมถึงปัญหาสภาพการจราจรภายในจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมอบหมายให้ สนข.ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทฯ ซึ่งเป็นการสนับสนุนและสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดนครราชสีมา 4 ปี

ทั้งนี้ สนข.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ทำการศึกษาแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เกิดการเชื่อมต่อและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจของจังหวัด ของประเทศ ลดการใช้และนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 14 เดือน

รถไฟฟ้ารางเบา-2

นายชัยวัฒน์  กล่าวว่า ที่ผ่านมา สนข. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อพบปะกับกลุ่มผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ครั้ง และได้จัดสัมมนาใหญ่ไปแล้วจำนวน 1 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่  ขั้นตอนศึกษา การวางแผนโครงการ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ชอบธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา คือ ระบบรถรางเบาระดับพื้น (High Floor) ซึ่งจะเป็นระบบหลัก มีระบบรถโดยสาร (Bus Technology) เป็นระบบรอง สำหรับแนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ มีทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง โดยจุดจอดแต่ละสถานี จะมีระยะห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร

ด้าน ศ.ดร.สุขสันติ์   หอพิบูลสุข หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะผู้จัดการโครงการ เปิดเผยถึงรายละเอียด โครงการศึกษาแผนแม่บทฯ ว่า แนวคิดการจัดทำแผนแม่บทจราจรและระบบขนส่งสาธารณะ เริ่มจากผลการสำรวจปริมาณการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองพบว่า ร้อยละ 51 เป็นรถและการเดินทางผ่านเมือง จึงเสนอแผนการวางโครงข่ายถนนด้วยถนนวงแหวนทั้งรอบนอกและรอบในให้สมบูรณ์ เพื่อผันรถผ่านเมืองให้วิ่งอ้อมเขตเมืองได้สะดวกไม่ต้องเข้ามาในเขตเมืองโดยไม่จำเป็น ส่วนร้อยละ 49 เป็นการเดิน ทางเข้า-ออกตัวเมืองเสนอแผนให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้ รถยนต์ ส่วนบุคคลเข้าเมืองหัน มาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน จากผลการศึกษาและทำนายปริมาณความต้องการเดินทาง นำมากำหนดเส้น ทางระบบขนส่งสาธารณะ 3 เส้นทาง คือสายสีเขียว สายสีส้มและสายสีม่วง มีแผนการดำเนินโครงการพัฒนา เป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 สายสีเขียวและสีส้ม เปิดบริการปี 2566 ระยะที่ 2 สายสีม่วง เปิดบริการปี 2569 และ ระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายทั้งหมด เปิดบริการปี 2572

ภาพรวมเมืองโคราช-web1

ภาพรวมเมืองโคราช-web2

อนาคต 20 ปี คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะประมาณ 20,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศ ทางในชั่วโมงเร่งด่วน ผลการเลือกรูปแบบเทคโนโลยีระบบขนส่ง สาธารณะที่เหมาะสมที่ ความเร็ว ประมาณ 70กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีทางเลือก 2 กลุ่มคือ รถเมล์ ไฟฟ้า ด่วนพิเศษ (Electric Bus Rapid Transit, BRT และรถรางเบา (Light Rail Transit, LRT) สรุปผลการเปรียบเทียบโดยใช้ กระบวนการวิเคราะห์ตามลำดับชั้น(Analytic Hierarchy Process, AHP) ตามเกณฑ์ 5 ข้อ ในการจัด ลำดับ ความสำคัญ (ความน่า เชื่อถือของเทคโนโลยี ความเหมาะสมทางกายภาพ ศักยภาพในการรองรับ ปริมาณผู้โดยสาร ต้นทุนที่เกี่ยวข้องและค่าโดยสาร และ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน) พบว่าระบบ LRT มีความเหมาะสมมากที่สุดแผนแม่บท ระบบ ขนส่งสาธารณะจึงเสนอให้ใช้ระบบ LRT มีโครงสร้างทางวิ่งระดับพื้นดิน ผลการรับฟังความคิด เห็น จากเวที ต่างๆ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเส้น ทางรถไฟฟ้า ทั้ง 3 สาย การใช้ ระบบ LRT ซึ่งมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน ระยะการพัฒนาโครงการ เริ่มทำระยะที่ 1 สายสีเขียวเข้มและสายสีส้มเข้ม

ศ.ดร.สุขสันติ์   กล่าวอีกว่า ทางวิ่งของรถ LRT ในกรณีถนนมีความกว้างเพียงพอ สามารถจัดเป็นเลนเฉพาะของ LRTแต่ในกรณีถนนแคบ ให้เป็นการใช้ถนนร่วมกัน (share lane) โดยมีกฎจราจรที่ให้สิทธิและความสำคัญ กับรถ LRT ก่อน ตามทางร่วมทางแยก รถ LRT ต้องใช้วงเลี้ยวโค้งกว้าง ต้องปรับสัญญาณไฟจราจร ทำให้รถ LRT เลี้ยวได้อย่างปลอดภัย นำเสนอรูปแบบตัวสถานีรถ LRT ออกแบบให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจังหวัด มีขนาดต่าง ๆ ตั้งริมถนนหรือเกาะกลางถนน มีจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่าง LRT สายต่าง ๆ ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) การออกแบบชานชาลาของสถานี ระดับพื้นชานชาลาเป็นระดับเดียวกับพื้นตัวรถ LRT ทำให้ง่ายต่อการขึ้น -ลงรถของผู้โดยสารทุกวัยและทุกความสามารถ เสนอให้มีแผนการใช้ประโยชน์ จากที่ดิน รอบสถานีรถไฟฟ้า  ( Transit OrientedDevelopment, TOD) บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ 2  และสถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อดึงดูดประชาชนให้เข้ามาใช้บริการ

รถไฟฟ้ารางเบา--2-1

สำหรับเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ โดยการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนในนครราชสีมา พบว่าการเดินทางกระจายไปในทุกทิศทาง จึงจัดทำเส้นทางการเดินรถเป็น 3 สายคือ สายสีเขียว เริ่มจากบ้านห้วยยาง–เซฟวัน-หัวรถไฟ –อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม)- โรงแรมดุสิตปริ้นเซสโคราช จากนั้นไปที่แยกจอหอ และขนส่งจังหวัดนครราชีมา สายสีม่วง เริ่มจาก ตลาดเซฟวัน-โรงแรมสีมาธานี- เดอะมอลล์-เทอร์มินอล 21- มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และค่ายสุรนารายณ์ สุดท้ายสายสีส้ม เริ่มจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำ-อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี- เทอร์มินอล 21-สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ 2  และศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ เฟสแรกจะเป็นเส้นทางสาย สีเขียวและสีส้ม ช่วงปี 2563-2565 เฟสที่2  เป็นเส้นทางสายสีม่วง ช่วงปี 2566-2568 และเฟสที่สาม เป็นเส้นทางส่วนต่อขยาย ช่วง ปี 2569-2571

ส่วนอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 15-20 บาทตลอดสาย  ซึ่งก่อนการก่อสร้างเส้นทางตามแผนแม่บทฯ จะมีการนำรถพลังงานไฟฟ้ามาทดลองวิ่งให้บริการก่อน เพื่อพิจารณาว่าได้ผลดีตามที่ได้ทำการวิจัยหรือไม่ ก่อนจะลงทุนทำ LRT

สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท ขั้นตอนจากนี้จะมีการสัมมนาครั้งใหญ่อีก 1 ครั้งถือเป็นครั้งที่ 3  เพื่อสรุปแผนทั้งหมด ก่อนที่จะสรุปเพื่อนำเสนอรัฐบาลให้ความเห็นชอบแผน และใช้แผนนี้ในการพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคต ส่วนจะสามารถเริ่มต้นได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล

รถไฟฟ้ารางเบา-3

รถไฟฟ้ารางเบา-4

รถไฟฟ้ารางเบา-5