28 March 2024


โคราชขานรับ “รถไฟฟ้ารางเบา” 1.5 หมื่นล้าน พัฒนาระบบขนส่งมวลชนสู่มหานคร

Post on: Jun 30, 2017
เปิดอ่าน: 878 ครั้ง

 

ภาคเอกชนเมืองย่าโมขานรับ  LRT  “รถไฟฟ้ารางเบา” ระบบขนส่งมวลชนที่ตอบโจทย์ได้ตรงใจคนเมือง ยันเห็นด้วยทั้ง 3 เส้นทาง แนะให้เริ่มต้นในเส้นทางที่มีปัญหาการติดขัดจราจรก่อน ขณะที่ภาคประชาชนหนุนส่ง ชี้เป็นระบบที่ทันสมัย ใช้วิ่งร่วมกับรถทั่วไปไม่ต้องยกสูงเสียทัศนียภาพเมือง แต่เห็นต่างในเส้นทาง ควรเริ่มจากตัวเมืองชั้นในก่อน ด้าน “นายกเล็ก” โคราชยังแทงกั๊ก ชี้เคยจ้างสถานบันการศึกษาเดียวกันทำการศึกษา ชี้ BRT ตอบโจทย์ดีกว่า และเส้นทางที่ศึกษาไว้เหมาะสม  แต่ไม่ค้าน อยากให้นำรถมาทดลองเส้นทางก่อน เพื่อดูปัญหาก่อนสร้างจริง

ภาพรวมเมืองโคราช1วันนี้ (30 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี  มติที่ประชุมของคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการ ศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.)เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ  เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติ เห็นชอบเกี่ยวกับผลการศึกษาที่เลือกใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม) หรือรถรางซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่ารถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ(BRT)  ซึ่งมี 3เส้นทาง คือสายสีเขียวโคกกรวด-จอหอ สายสีส้มดูโฮม-วิ่งวนในเมืองชั้นในและสายสีม่วงเซฟวัน-จอหอ

โดยมีแผนการก่อสร้าง  3 ระยะ  ประกอบด้วย ระยะที่ 1 สายสีเขียวโคกกรวด-จอหอ และสายสีส้ม ดูโฮม-วิ่งวนในเมืองชั้นใน ออกแบบรายละเอียดปี 62 ก่อสร้างระบบปี 63-65 เปิดให้บริการเร็วที่สุดปี 66 ระยะที่ 2 สายสีม่วง เซฟวัน-จอหอ ออกแบบรายละเอียดปี 65ก่อสร้างระบบปี66-68 เปิดให้บริการเร็วที่สุดปี 69 และระยะที่ 3 ส่วนต่อขยายทั้งหมดอาทิ สีเขียวอ่อน ส้มอ่อน และม่วงอ่อนออกแบบรายละเอียดปี 68ก่อสร้างระบบปี 69-71 เปิดให้บริการเร็วที่สุดปี 72  ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายที่ปรึกษาไปออกแบบสถานี จำนวนสถานี การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีการพัฒนาระบบเชื่อมต่อรถไฟฟ้ารางเบา และรูปแบบการลงทุน โดยเบื้องต้นเสนอให้ใช้เงิน ลงทุนจากภาครัฐ เช่นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนการบริหารจัดการเดินรถ ควรให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือรูปแบบพีพีพี คาดว่าจะใช้งบประมาณ การก่อสร้าง1.5หมื่นล้านบาทนั้น

รถไฟฟ้ารางเบา-1นายไพจิตร  มานะศิลป์  รองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยว  กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า หอการค้าเห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนให้เกิดระบบการขนส่งมวลชนที่ทันสมัยในจังหวัดนครราชสีมาโดยเร่งด่วน  เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ทั้งเมกะโปรเจคต์ที่จะเข้ามาในจังหวัดนคราชสีมาที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ เช่น รถไฟรางคู่  มอเตอร์เวย์ และ รถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลเร่งรัดโดยใช้ ม.44  ฉะนั้นระบบการขนส่งมวลชนในเขตเมืองนครราชสีมาได้เร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด  และหากล่าช้า หรือโต้แย้งก็จะทำให้จังหวัดนครราชสีมาเสียโอกาส เหมือนเช่น อุโมงค์ทางลอดที่เราเคยได้งบประมาณมากแต่มีการคัดค้านงบก็ตกไปยังจังหวัดอื่นที่เขามีความพร้อมเหมือนครราชสีมาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามสิ่งที่หลายฝ่ายหยิบขึ้นมาพูดคุยกันมากคือ จะเริ่มต้นที่เส้นทางใดก่อนเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองให้เบาบางลงไปได้  โดยส่วนตัวเห็นว่าสายสีเขียวควรถูกหยิบขึ้นมาทำก่อน คือ เส้นทางโคกกรวด-จอหอ ถ.มิตรภาพ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะแก้ไขปัญหารถติดได้ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะเส้นทางดังกล่าวผ่านสถานศึกษามากกว่า 4 แห่ง มหาวิทยาลัย 2 แห่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ด้านการจราจรทั้งสิ้น หากดำเนินการได้ก่อนก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาด้านการจราจรลงไปได้  และรถไฟฟ้ารางเบาที่นำมาวิ่งเป็นรถสมัยใหม่ไม่ต้องใช้สายไฟฟ้าโยงอยู่ด้านบนแต่อย่างใด

นายไพจิตร มานะศิลป์-web1นายไพจิตร กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนบางส่วนเป็นห่วงคือ เรื่องของการใช้เส้นทางของ LRTร่วมกับรถยนต์ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดมากกว่าเดิมนั้น อยากให้ทุกคนเปิดใจกว้างรับฟังข้อมูลรอบด้านและหาทางออกร่วมกัน เพราะรถไฟฟ้ารางเบาไม่ได้วิ่งตลอด 24 ชั่วโมง แต่วิ่งเป็นเวลา หากมีการบริหารจัดการอย่างดี ก็จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ไปได้

“วันนี้โคราชต้องเดินหน้าและตื่นตัวกับจัดการระบบขนส่งมวลชนภายในอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาอีกมากมาย  ในส่วนของหอการค้าพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และจะประสานในเรื่องของการสร้างจุดขายได้การท่องเที่ยวตามสถานีรถไฟฟ้า หรือจุดที่รถไฟฟ้ารางเบาวิ่งผ่านเพื่อทำให้เมืองมีความน่าอยู่ และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังจังหวัดได้เพิ่มขึ้น” นายไพจิตร กล่าวในที่สุด

ด้านนายจักริน เชิดฉาย  ในฐานะผู้แทนภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า  ภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมาผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่สมัยที่ตัวเองเป็นประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาก็ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยและขับเคลื่อนตลอด เพราะเราเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีระบบขนส่งมวลชนเกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งการออกแบบที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้นำเสนอมานั้น  เป็นรถไฟฟ้ารางเบารูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องมีสายไฟฟ้าโยงอยู่ด้านบน  ทำให้เสียทัศนยภาพของเมือง และรางก็สมารถใช้กับเส้นทางรถยนต์ได้เลย ไม่ต้องสร้างลอยฟ้าเหมือนรถ BRT ซึ่งเป็นรูปแบบที่ล้าสมัยและยังทำให้เสียทัศนียภาพของเมืองอีกด้วย ในประเทศเขามีใช้กันมานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งสามารถตอบโจทย์คนเมืองได้เป็นอย่างดี

นายจักริน เฉิดฉายอย่างไรก็ตามมีบางส่วนที่เป็นห่วงเรื่องเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านนั้น  ตนอยากให้โฟกัสไปที่เรื่องการพัฒนาเมืองจะดีกว่า อย่ามองเรื่องการขาดทุนหรือกำไร เพราะประชาชนได้ประโยชน์หลายอย่าง บ้านเมืองมีการพัฒนา และเราใช้รถไฟฟ้ารางเบาที่ทันสมัยก็ต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูง แต่เชื่อว่าคุ้มค่ากับการลงทุนแน่นอน โดยส่วนตัวเห็นว่า ควรจะดำเนินการเส้นทางในตัวเมืองชั้นในเป็นเส้นทางแรกก่อน เพราะขณะนี้เศรษฐกิจในตัวเมืองกำลังย่ำแย่ง หลายร้านประกาศปิดกิจการ หากเราสามารถขนคนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยในเขตเมองสร้างบรรยากาศที่คึกคักก็จะช่วยให้เศรษฐกิจในจังหวัดดีขึ้นตามไปด้วย

ด้านนายสุรวุฒิ  เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า  ทางเทศบาลฯ ได้จ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีศึกษารูปแบบการขนส่งมวลชนไว้นานแล้ว โดยจากการศึกษาเห็นว่า ระบบการขนส่ง ด้วยรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือ BRT  มีความเหมาะสมมากที่สุด และเส้นทางที่ออกแบบไว้ซึ่งแตกต่างจากของ สนข.ทำก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่จอดรถ เพราะเป็นสถานีลอยฟ้า ไม่กระทบกับรถยนต์ที่ใช้สัญจรไปมา

อย่างก็ตามมาแม้ว่าทางเทศบาลนครฯ จะทำการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งไว้แล้วก็ตาม  เราก็ไม่ได้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ สนข.ทำ   แต่อยากให้เมื่อมีการสรุปเส้นทางทั้ง 3 ระยะ และรูปแบบของรถไฟฟ้ารางเบาแล้ว ก็อยากให้มาทดสอบเส้นทางตามที่ระบุในการศึกษาก่อนที่จะลงมือทำ เพื่อจะได้ทราบปัญหาต่างๆ เมื่อมีการก่อสร้างและเปิดใช้งานจริง โดยนำรถชนิดใดมาวิ่งดูก่อนใน 3 เส้นทางดังกล่าว แล้วค่อยมาคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด นายสุรวุฒิ กล่าว

นายสุรวุฒิ เชิดชัยสำหรับรายละเอียดเส้นทาง สายสีส้มระยะทาง 15 กม. วิ่งเส้นทางใจกลางเมือง จากหน้าร้านขายวัสดุ”ดูโฮม” ถนนราชสีมา-โชคชัย -ศูนย์การค้าเทสโก้โลตัส-สุสานเม้งยิ้น-สถานีบำบัดคุณภาพน้ำเทศบาลนครราชสีมา-แยกถนนสรรพสิทธิ์-ถนนพลล้าน-ถนนอัษฎางค์-ห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่าเก่า-อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี-สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่1 –ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21-สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่2 – ศูนย์การค้าแม็คโคร-สี่แยกประโดก-โรงแรมวีวัน-รพ.มหาราชนครราชสีมา-วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา-ถนนชุมพล-ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา-ถนนมหาดไทย

เส้นทางที่ 2 สายสีเขียว 23กม. วิ่งตามแนวถนนมิตรภาพ และบริเวณพื้นที่ในเมืองนครราชสีมาตั้งแต่สถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (บ้านห้วยยาง)-ร้านเจ้าสัว-วิทยาลัยนครราชสีมา-โรงเรียนอุบลรัตน์ราชกัญญาราชวิทยาลัยนครราชสีมา-โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย-ตลาดเซฟวัน-สี่แยกปักธงชัย-ร้านปึงหงี่เชียง-อู่เชิดชัย-ถนนสืบสิริ-วัดใหม่อัมพวัน-สวนสาธารณะภูมิรักษ์-ตลาดสวายเรียง-สถานีรถไฟนครราชสีมา-ห้าแยกหัวรถไฟ-เทศบาลนครนครราชสีมา-ตลาดแม่กิมเฮง-อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี-โรงเรียนสุรนารีวิทยา-ม.ราชภัฎนครราชสีมา-ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสานนครราชสีมา-โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์-หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา-ศูนย์ปภ.เขต5นครราชสีมา-สี่แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์-สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ 2

เส้นทางที่ 3 สายสีม่วง 16.4 กม. กม. วิ่งตามแนวถนนมิตรภาพและพื้นที่ในเมืองนครราชสีมาตั้งแต่ตลาดเซฟวัน-สี่แยกปักธงชัย-ร้านปึงหงี่เชียง-อู่เชิดชัย-โรงแรมสีมาธานี-รพ.กรุงเทพราชสีมา-ศูนย์การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา-ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21-สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ 2- ศูนย์การค้าแม็คโคร-สี่แยกประโดก-ศูนย์การค้าเซ็นทรัลนครราชสีมา-ม.วงษ์ชวลิตกุล-รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาย-สี่แยกจอหอ-ค่ายสุรนารายณ์(เส้นทางไปยังศูนย์ซ่อมบำรุง) ซอยสุรนารายณ์ 13 (ซอยไปไนท์บ้านเกาะ)-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

ทั้งนี้ทางโครงการฯ จะมีการจัดประชุมสัมมนาครั้งสุดท้ายเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน จ.นครราชสีมา ในช่วงปลายเดือน ก.ค. นี้ จากนั้นจะสรุปผลการศึกษาโครงการฉบับสมบูรณ์ให้ สนข. เดือน ส.ค. เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมเดือน ก.ย.-ต.ค. ต่อไป

ภาพรวมเมืองโคราช2