28 March 2024


โคราชระดมพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย หลังไข้เลือดออกระบาดหนัก อีสานล่างผู้ป่วยพุ่งกว่า 5,000 ตาย 3 ราย

Post on: Sep 4, 2015
เปิดอ่าน: 684 ครั้ง

โคราชระดมเจ้าหน้าที่ออกพ่นหมอกควัน-แจกทรายอะเบทในหมู่บ้านชุมชนหลังพบระบายหนัก หมู่บ้านเดียวป่วยแล้ว 6 ราย เผย 4 จังหวัดอีสานล่างพบป่วยพุ่งกว่า 5,000 รายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เสียชีวิตแล้ว 3 ราย  กำชับเจ้าหน้าที่ออกเร่งทำความเข้าใจประชาชนป้องกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะนำโรค

โคราชระดมพ่นหมอกควันหลังไข้เลือดออกระบาดหนัก-web1   วันนี้ (4 ก.ย.) ที่บ้านพะเนา  ต.พะเนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา   เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อบต.พะเนา ได้เข้าฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย พร้อมให้ความรู้ในการกำจัดยุงลายพาหะนำเชื้อโรคไข้เลือดออก และแจกทรายอะเบท หลังพบการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่สูง โดยพบผู้ป่วยในหมู่บ้านเดียวสูงถึง 6 ราย  ซึ่งผู้ป่วยมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก

โคราชระดมพ่นหมอกควันหลังไข้เลือดออกระบาดหนัก-web2

ขณะที่ นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5  (สคร.5)นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตบริการสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.ว่า พบผู้ป่วย จำนวน 5,110 ราย ตาย 3 ราย ประกอบด้วยจังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 722 ราย  จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย1,175  ราย  จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย  2,474 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 รายจังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 739 ราย  มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

โคราชระดมพ่นหมอกควันหลังไข้เลือดออกระบาดหนัก-web3

สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกคือ หลังจากถูกยุงมีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย บางรายมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออก ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากไข้ลดลง โดยจะเริ่มซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบา หมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งส่วนใหญ่ยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน เว้นแต่กลางวันไม่มีเหยื่อให้กิน ในที่ที่มีแสงไฟกลางคืนก็จะออกกินเลือดได้เช่นกันยุงตัวเมียมีอายุไขเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 วัน ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6ครั้ง ตลอดช่วงที่มีชีวิตของยุงลายตัวเมียตัวหนึ่งจึงสามารถผลิตยุงลายรุ่นลูกได้ราว 500 ตัว

โคราชระดมพ่นหมอกควันหลังไข้เลือดออกระบาดหนัก-web4

นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ได้กำชับให้ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกพื้นที่เข้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และออกให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันโดยอย่าให้ถูกยุงกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือน  “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” คือ เก็บน้ำให้มิดชิด  เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง  เก็บขยะเศษอาหารให้หมด เพื่อป้องกันลูกหลานจากโรคไข้เลือดออกดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเก็บภาชนะรอบๆบ้าน เช่น ยางรถยนต์ กระป๋อง ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการนอนในมุ้ง หรือทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง และหากมีอาการไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พบจุดเลือดที่ผิวหนัง หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้