20 April 2024


ผู้ว่าฯเปิด “อุทยานธรณีโคราช” แห่งแรกในอีสาน เตรียมเสนอระด้บโลกให้ยูเนสโกรับรอง

Post on: Aug 15, 2016
เปิดอ่าน: 1,524 ครั้ง

โคราชจัดประชุมคณะกรรมการอุทยานธรณีโลกและประชาคมในอุทยานธรณีโคราช พร้อมเปิดสำนักงานอุทยานธรณีโคราช  เน้นการอนุรักษ์ร่วมท่องเที่ยวเชิงธรณีแบบยั่งยืน ชุมชนได้ประโยชขน์ เตรียมเสนอระดับโลกให้ยูเนสโกรับรอง

เปิดจีโอพาร์ค-web

วันนี้ (15 ส.ค.) เวลา 14.00 น. ที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอุทยานธรณีโลก และประชาคมในอุทยานธรณีโคราช พร้อมเปิดสำนักงานอุทยานธรณีโคราช หรือ Khorat Geopark  โดยเป็นโปรแกรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โปรแกรมหนึ่งของยูเนสโกคล้ายกับมรดกโลก (World Heritage) และพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) อุทยานธรณี (Geopark) เน้นการอนุรักษ์ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีแบบยั่งยืน ซึ่งจะ ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์มรดกทางธรณีในท้องถิ่น ทั้งในรูปงานอาชีพบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น การผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร / หัตกรรมของท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ รวมทั้งงานอาชีพใหม่ที่เกิดจากการลงทุนในโครงการต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

เปิดจีโอพาร์ค-web1

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่นักวิจัยของสถาบันไปศึกษาในภาคสนามและจากการประชุมระดมสมองจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 อำเภอที่จะจัดตั้งอุทยานธรณีโคราช ตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก ได้แก่อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมาและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งอุทยานธรณีโคราชระดับจังหวัด และเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศ ต่อจากอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการในระดับประเทศและคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกที่กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอต่อยูเนสโกในปี 2559 นี้

ด้าน ผศ.ดร.ประเทือง  จินตสกุล  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่าอุทยานธรณี เป็นรูปแบบการอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยที่ปัจจุบันยูเนสโกได้รับรองการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับโลกหรือ Global Geopark ไปแล้ว 111 แห่งจาก 32 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศจีนมีมากที่สุดถึง 31 แห่ง ในอาเซียนมีเฉพาะประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศละ 1 แห่ง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี  กรมทรัพยากรธรณี จึงมีนโยบาย ตั้งแต่ พ.ศ. 2553  ที่จะสนับสนุนการจัดตั้งอุทยานธรณีในหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนงบประมาณจัดทำแผนแม่บทอุทยานธรณีในจังหวัดต่างๆ การสำรวจแหล่งธรณีอันควรอนุรักษ์ภายในประเทศ  การจัดประชุมสัมมนาการจัดตั้งอุทยานธรณี เป็นต้น ทำให้หลายจังหวัดเริ่มดำเนินโครงการอุทยานธรณีขึ้น เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น สตูล ตาก โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา หากมีการจัดตั้งหรือรับรองโดยยูเนสโกแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 3 ประเทศของโลกที่ภายใน 1 จังหวัดมีรูปแบบการอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง 3 โปรแกรม  เหมือนเช่นประเทศเกาหลีใต้และอิตาลี ซึ่งจะได้รับการยกย่องเป็น “The UNESCO triple crowns” และสามารถนำแบรนด์หรือความโดดเด่นระดับโลกข้างต้น มาใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคต

เปิดจีโอพาร์ค-web2