20 April 2024


“ไข้เลือดออก”ระบาดหนักอีสานใต้ป่วยแล้ว 3,500 ราย ตาย 4 ศพ แนวโน้มรุนแรง

Post on: Aug 9, 2015
เปิดอ่าน: 644 ครั้ง

นพ ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร


ไข้เลือดออกระบาดหนักรับหน้าฝน อีสานใต้พบผู้ป่วยแล้ว 3,460 ราย มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า  เสียชีวิตแล้ว  4ราย โคราชมีผู้ป่วยมากสุดกว่า 1,600 ราย ตาย 2 ราย เผยแนวโน้มระบาดรุนแรง

 

วันนี้ (6 ส.ค.58 ) ที่โรงแรมโคราชโฮเต็ล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5  (สคร.5)นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก ว่า  ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในเขตบริการสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 ก.ค.2558 จำนวน 3,460 ราย แยกเป็น จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 369 ราย  จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 901 ราย จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย  1,657 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย  533 ราย  มีผู้เสียชีวิต 2 ราย

 

ทั้งนี้กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าปีนี้แนวโน้มการระบาดของโรคไข้เลือดออกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่มีฝนตกในพื้นที่หลายจังหวัด ที่สำคัญพบว่าจำนวนผู้ป่วยในปี 2558 มากกว่าในปี 2557 ในช่วงเดียวกันถึง 2 เท่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี

 

สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก คือ หลังจากถูกยุงมีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย บางรายมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออก ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากไข้ลดลง โดยจะเริ่มซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบา หมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งส่วนใหญ่ยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน เว้นแต่กลางวันไม่มีเหยื่อให้กิน ในที่ที่มีแสงไฟกลางคืนก็จะออกกินเลือดได้เช่นกัน ยุงตัวเมียมีอายุไขเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 วัน ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6 ครั้ง ตลอดช่วงที่มีชีวิตของยุงลายตัวเมียตัวหนึ่งจึงสามารถผลิตยุงลายรุ่นลูกได้ราว500 ตัว

 

นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะเป็นการรักษาตามอาการ สามารถป้องกันได้ด้วยการป้องกันอย่าให้ถูกยุงกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือน  “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” คือ เก็บน้ำให้มิดชิด  เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง  เก็บขยะเศษอาหารให้หมด เพื่อป้องกันลูกหลานจากโรคไข้เลือดออกดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเก็บภาชนะรอบๆบ้าน เช่น ยางรถยนต์ กระป๋อง ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ

 

ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการนอนในมุ้ง หรือทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง เมื่อป่วยมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พบจุดเลือดที่ผิวหนัง หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้