ผู้พิการสายตาปลื้ม ! ซินโครตรอนเร่งผลิตเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ฝีมือคนไทยกว่า 200 เครื่อง แจกฟรีทั่วประเทศ เผยเป็นของขวัญพระราชทานสมเด็จพระเทพฯเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ในกลุ่มผู้พิการทางสายตา ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้นถูกกว่าสินค้านำเข้าครึ่งหนึ่ง คาดจะแล้วเสร็จและส่งมอบเป็นของขวัญทันเทศกาลปีใหม่แน่
วันนี้ (1 ก.ย.) ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมด้วยดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล นักวิจัยและวิศวกรสถาบันฯ ได้นำเครื่องแสดงผลอักษาเบรลล์ 20 เซลล์ ที่ผลิตขึ้นจากแสงซินโครตรอนได้สำเร็จครั้งแรกโดยฝีมือคนไทยมาสาธิตและแสดงให้สื่อมวลชนชม
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาต้นแบบเครื่องแสดงผลอักษรเบลล์ โดยการใช้แสงซินโครตรอน เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ในกลุ่มผู้พิการทางสายตาได้เป็นผลสำเร็จ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 รอบ 2 เมษายน 2558
สำหรับชุดแสดงผลอักษรเบรลล์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดข้อมูลจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน่วยความจำภายใน ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรับรู้ข้อมูลโลกรอบตัวได้ ในปัจจุบัน ชุดแสดงผลอักษรเบรลล์มีผู้ผลิตอยู่จำนวนหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนเซลล์มากขึ้นสอดคล้องกับหนังสือเบรลล์ที่บรรจุตัวอักษรเบรลล์ 40 เซลล์ต่อ 1 บรรทัด แต่อย่างไรก็ตาม ราคาที่จำหน่ายย่อมมีราคาที่สูงตามไปด้วย นอกจากนี้การใช้งานชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ให้สมบูรณ์นั้นต้องทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารที่ส่งผ่านข้อมูลได้ นั่นหมายถึงราคาในการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก จากความสำเร็จในการพัฒนาชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ 10 เซลล์ ด้วยการใช้รังสีเอกซ์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนสร้างชิ้นส่วนต่างๆ นำมาประกอบเป็นตัวแสดงผลอักษรเบรลล์ โดยใช้วัสดุเพียโซอิเล็กทริกในการขับเคลื่อนการทำงานและส่งผ่านข้อมูลผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น นำไปสู่การพัฒนาเครื่องต้นแบบแสดงผลอักษเบรลล์ 20 เซลล์ เพื่อเพิ่มระดับการอ่านได้อย่างต่อเนื่อง ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ กล่าว
ด้าน ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล วิศวกรผู้ประดิษฐ์ กล่าวว่า เครื่องต้นแบบแสดงผลอักษรเบรลล์ 20 เซลล์ที่พัฒนาขึ้นทำงานด้วยหลักการเคลื่อนที่ขึ้น-ลงของจุดแสดงผลที่ซ่อนอยู่ภายในหน้าจอสัมผัสและเมื่อได้รับแรงดันไฟฟ้า จุดแสดงผลแต่ละจุดที่ทำงานแยกจากกันจะเคลื่อนที่ขึ้น โดยปลายด้านบนสุดจะโผล่ขึ้นเหนือหน้าจอสัมผัสประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ทำให้ปลายนิ้วสามารถสัมผัสได้ การเคลื่อนที่ของแต่ละจุดจะถูกควบคุมด้วยวงจรไฟฟ้าที่มีโปรแกรมแปลงจากอักษรปกติเป็นรหัสอักษรเบรลล์ โดยเครื่องต้นแบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะสามารถอ่านข้อมูลได้จากหน่วยความจำภายนอก (SD card) หรือเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านไฟล์ข้อความ รวมทั้งการอ่านตัวอักษรจากหน้าเว็บไซด์ทั่วไปได้ เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์นี้ ได้ผ่านการทดสอบกับผู้พิการทางสายตา พบว่าสามารถแสดงผลได้ถูกต้องถึง 97% ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ให้มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คาดว่าจะผลิตแล้วเสร็จทั้ง 201 เครื่องและมอบให้ทันในเทศกาลปีใหม่ 2559 ที่จะถึงนี้แน่นอน
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ทูลเกล้าฯถวายเครื่องต้นแบบแสดงผลอักษรเบรลล์ แบบ 20 เซลล์ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว และขอพระราชทานพระราชานุญาตผลิตเครื่องดังกล่าว จำนวน 201 เครื่อง เพื่อมอบไปตามโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดทั่วประเทศ เป็นของขวัญพระราชทานในโอกาสอันเป็นมหามงคล เจริญพระชนมายุ 60 พรรษา โดยจะอัญเชิญตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลอง 60 พรรษา พร้อมข้อความ “เครื่องพระราชทาน” ประทับลงบนตัวเครื่องฯ เพื่อให้พสกนิกรได้รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วย