อาทิตย์อัสดงเหนืออ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคอง เขายายเที่ยงโคราช พร้อมชมกังหันลมใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ใครได้มาเยือนแล้วจะหลงใหล
วันนี้ (3 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครราชสีมาว่า สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา ในช่วงต้นฤดูหนาว อากาศดี ปลอดโปร่ง โล่ง ลมแรง เย็นสบาย ท่ามกลางความงด งามของทิวทัศน์ที่แสนสวยงามยามอาทิตย์อัสดง คือ บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา (โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ) ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกังหันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หากมองลงไปด้านล่างอ่างพักน้ำฯ แล้วจะพบกับทิวทัศน์สวยงามของอ่างเก็บน้ำลำตะคอง แหล่งน้ำสายหลักหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนชาวโคราช ที่พาดผ่านด้วยถนนมิตรภาพแสงไฟจากรถยนต์ที่สัญจรไปมาระยิบเข้าสายตานักท่องเที่ยวประหนึ่งเป็นความงามที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางพระอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า เป็นภาพแห่งความประทับใจของนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก นอกจากจะได้ชมความสวยงามรอบ ๆ อ่างพักน้ำฯ แล้วนักท่องเที่ยวยังได้แวะสักการะพระพุทธรูป นาคปรกที่สวยงามตั้งตระหง่านรับลมอยู่ริมขอบอ่างฯ จุดกึ่งกลาง
จากการเก็บสถิติความเร็วลมที่ระดับความสูง 45 เมตร ของ กฟผ. เพื่อตรวจวัดศักยภาพพลังงานลมสำหรับผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 พบว่า ที่บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมาแห่งนี้ มีศักยภาพพลังงานลมดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีลมพัดถึง 2 ช่วง คือช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมีนาคม) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม) พบว่าบริเวณนี้ที่มีศักยภาพลมดีที่สุด อยู่บริเวณสถานีลำตะคอง มีความเร็วลมเฉลี่ย 6.14 เมตรต่อวินาที ในขณะที่แหล่งที่มีศักยภาพลมดีรองลงมาได้แก่ แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ด (5.65 เมตรต่อวินาที) และบ้านอ่าวไผ่ จังหวัดชลบุรี (5.19 เมตรต่อวินาที) ซึ่งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้
โดยระบบผลิตไฟฟ้ากังหันลม ดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมัน แต่ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีน มีความสูง 68 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 64 เมตร ขนาดกำลังการผลิต 1.25 เมกะวัตต์/ชุด ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 2 ชุด รวมกำลังการผลิต 2.5 เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 145 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 4.6 ล้านหน่วย ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1.1 ล้านลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 2,300 ตันต่อปี