เกษตรกรโนนไทยโคราช พลิกผืนนาสู้แล้ง ปลูกมะขามเทศ “เพชรโนนไทย” พืชอึด ทนแล้งทนดินเค็ม โกยรายได้ปีละกว่า 63 ล้าน ขณะที่เจ้าของสวนมะขามเทศ “เจนจิรา” เผยทิ้งอาชีพรับเหมา พลิกแปลงนากว่า 80 ไร่ ปลูกมะขามเทศสร้างรายได้กว่าปีละหลายล้านบาท เผยได้ความสุขใจ สุขภาพแข็งแรง พร้อมเร่งสร้างแปลงปลอดสารพิษแปลงแรกของอำเภอ
วันนี้ ( 4 ก.พ.) นายสุทรี วรหาร อายุ 50 ปี เจ้าของสวนมะขามเทศ “เจนจิรา” ตั้งอยู่เลขที่ 215 หมู่ 3 บ้านแฉ่ง ต.ถนนโพธิ์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกมะขามเทศ “เพชรโนนไทย” แปลงใหญ่ที่สุดใน อ.โนนไทย เปิดเผยว่า ตนผันชีวิตจากผู้รับเหมาทำระบบประปาหมู่บ้าน มาเป็นเกษตรกรโดยพลิกพื้นที่นากว่า 80 ไร่ ด้วยการทดลองปลูกพืชมาหลายชนิด ทั้งทุเรียน ลำไย เงาะ ลิ้นจี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากดินในพื้นที่ อ.โนนไทยเค็ม และมีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง กระทั่ง เมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงนำเอามะขามเทศมาทดลองปลูก แต่ไม่ได้ยกร่อง 6 เดือน มีผลผลิตออกมาแต่ฝักไม่โตมากนัก ตนจึงทดลองปรับพื้นที่ด้วยการยกร่องพร้อมทำระบบน้ำหยดไว้ทุกแปลงปรากฏว่ามะขามเทศให้ผลผลิตดี ฟักใหญ่ รสชาติดีมาก
วันนี้สวน “เจนจิรา” เก็บผลผลิตมะขามเทศมากว่า 2 ปีแล้ว เฉลี่ยวันละกว่า 500 กิโลกรัม ๆ ละ 40-60 บาทสร้างรายได้กว่า ปีละกว่า 2 ล้านบาท ใกล้คืนเงินทุนที่ลงไป
นายสุทรี กล่าวว่า มะขามเทศเป็นพืชที่ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพดินเค็มและความแห้งแล้งเป็นอย่างดี ซึ่งมะขามเทศพันธ์ “เพชรโนนไทย” จะมีคุณสมบัติพิเศษกว่ามะขามเทศจากที่อื่น ๆคือ หวาน กรอบ เนื้อแน่น รสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะนี้ทางสวนกำลังขอรับรอง GAP เกษตรดีที่เหมาะสมแปลงแรกของ จังหวัดนครราชสีมา
สำห รับปีนี้ต้องยอมรับว่า เป็นปีที่แล้งที่สุด มีน้ำในบ่อที่กักเก็บไว้น้อย ประกอบกับ อากาศร้อนส่งผลให้มะขามเทศออกน้อยกว่าทุกปีลดลงกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาประมาณ 250 กก. ซึ่งตนไม่ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่จะนำไปขายที่ตลาดให้ลูกค้าโดยตรงเพื่อจะได้รู้ทิศทางของตลาดมะขามเทศ โดยคัดเกรดมีตั้งแต่ราคา 35-60 บาท หลังจากผันชีวิตมาเป็นเกษตรกรทำให้มีความสุขมากขึ้น มีสุขภาพจิตดีและสุขภาพร่างกายแข็งแรง
ด้านนางยุพวัลย์ ชมชื่นดี เกษตรอำเภอโนนไทย กล่าวว่า มะขามเทศเพชรโนนไทย สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกมะขามเทศจำนวนกว่า 100 ราย บนพื้นที่ประมาณ 750 ไร่ ใน ต.ถนนโพธิ์ ต.มะค่า และ ต.โนนไทย สร้างรายได้ปีละกว่า 63 ล้านบาท โดยผลผลิตเกษตรกรจะออกช่วงประมาณ 4เดือน คือ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.- มี.ค. ซึ่งผลผลิตที่ออกมาจะมีพ่อค้ามารอซื้อถึงสวนของเกษตรกร และไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ขณะนี้เกษตรอำเภอได้เข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรในการลดใช้สารเคมี หรือใช้ให้น้อยที่สุด ซึ่งมีสวนมะขามเทศขอรับรอง GAP ไป คาดว่าจะได้รับการรับรองในเร็ว ๆ นี้