ตะลึง ! โคราชพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก สมเด็จพระเทพฯ มีพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อสกุลของไดโนเสาร์ “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” ด้านนักวิจัยญี่ปุ่นชี้ การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก ระบุไดโนเสาร์ที่พบใหม่นี้เป็นต้นกำเนิดของอิกัวโนดอนต์ของโลก โดยพบชิ้นส่วนรุ่นสุดท้ายที่ประเทศจีน
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมานพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และ ศ.ดร.โยอิชิ อะซูมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยจังหวัดฟูกุอิ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทีมนักวิจัย ร่วมกันแถลงข่าวการพบไดโนเสาร์โคราชพันธุ์ใหม่ของโลกที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ผศ. ดร.ประเทือง จิตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในวโรกาส 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามของพระองค์เป็นชื่อสกุล คือ “สิรินธรน่า” ได้ ส่วนชื่อชนิด ใช้ชื่อ “โคราช” ซึ่งเป็นแหล่งพบ คือ “โคราชเอนซิส”
สำหรับผลการวิจัยครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือขุดสำรวจไดโนเสาร์ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในแหล่งดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ฟอสซิลที่ทำการวิจัย ประกอบด้วย ชิ้นส่วนกะโหลก ขากรรไกรบนล่าง ฟันและอื่นๆ จากชั้นหินกรวดมนปนปูน ในหมวดหินโคกกรวด อายุประมาณ 115 ล้านปีก่อน ระบบนิเวศเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง โดยอิกัวโนดอนต์สิรินธรน่า มีความแตกต่างจากอิกัวโนดอนต์ 2 สกุล ที่พบใน จ.นครราชสีมา มาก่อน คือ สกุลราชสีมาซอรัส และสยามโมดอน เช่น มีขากรรไกรล่าง ที่มีอัตราส่วนระหว่างความยาวและความสูงน้อยกว่าราชสีมาซอรัส หรือมีขากรรไกรบนทรงต่ำหรือลาดเอียงมาก กว่าสยามโมดอน เป็นต้น
ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวว่า “สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” (Sirindhorna khoratensis) เป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ จัดเป็นไดโนเสาร์ประเภทกระดูกสะโพกแบบนก กินพืช และอยู่ในกลุ่มย่อยที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลมของกลุ่มใหญ่อิกัวโนดอนต์ อายุประมาณ 115 ล้านปีก่อน ความยาว 6 เมตร ความสูงระดับสะโพก 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 1 ตัน ต่างจากไดโนเสาร์กินพืชพวกซอโรพอดหรือพวกคอยาวหางยาว ที่มีกระดูกสะโพกแบบสัตว์เลื้อยคลาน ไดโนเสาร์ในกลุ่มอิกัวโนดอนต์นี้ พบมากกว่า 60 สกุล เพราะมีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันมานับ 100 ล้านปี และพบกระจายกว้างขวางทั่วโลก
ลักษณะเด่นของอิกัวโนดอนต์ คือ มีฟันคล้ายฟันอิกัวน่า แต่มีขนาดใหญ่กว่ากันมาก ไม่มีฟันในส่วนหน้าของขากรรไกรบน-ล่าง แต่มีจงอยปากที่เป็นกระดูกแข็งแทน ขาหลังแข็งแรง ใหญ่และยาวกว่าขาหน้า จึงเป็นไดโนเสาร์ที่วิ่งได้เร็วด้วย 2 เท้า แต่เวลาเดินหรือแทะเล็มกินใบไม้ยอดไม้ระดับต่ำ จะเดินด้วย 4 เท้า อาจแบ่งได้เป็น 2 พวกย่อย คือ1.พวกที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลม ไว้ป้องกันตัวหรือแกะเมล็ดไม้ที่มีเปลือกแข็ง เช่น อิกัวโนดอน โปรแบคโตรซอรัส และ 2. พวกที่มีหงอนบนหัว เช่น พาราซอโรโลฟัส
ด้านศ.ดร.โยอิชิ อะซูมา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยจังหวัดฟูกุอิ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก“สิรินธรน่า โคราชเอนซิส” ที่ค้นพบครั้งนี้ถือว่าใช้เวลาในการศึกษายาวนานกว่า 10 ปีจึงสำเร็จ เนื่องจากชิ้นส่วนที่พบค่อนข้างเล็ก กระจัดกระจายกัน จึงทำให้ต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก ไม่เหมือนแหล่งขุดค้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพราะภูมิศาสตร์ และลักษณะธรณีวิทยาแตกต่างกันซึ่งที่นั่นจะพบเป็นชิ้นส่วนใหญ่ๆ ใช้เวลาค่อนข้างน้อย แต่ก็คุ้มค่ากับการค้นพบอย่างมาก เพราะไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของไดโนเสาร์สกุลอิกัวโนดอนที่ค้นพบในโลกนี้ โดยการค้นพบที่ประเทศจีนเป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์รุ่นสุดท้ายก่อนการสูญพันธุ์ แต่การค้นพบที่ จ.นครราชสีมาบอกได้ว่า ที่นี้เป็นแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์ไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ ฉะนั้นจึงถือว่ามีความสำคัญมาก สำหรับการศึกษาต่อไปจะมีการศึกษาระบบสมองในกะโหลกเพื่อให้ทราบวิวัฒนาการของมัน ถือว่าตัวนี้มีความสำคัญมาก ๆ เลย ของตัวที่พบ อายุประมาณ 120 ล้านปี อยู่ในยุคครีเทเชียส