ฮือฮา ! พบรอยจารึกอักษรย่อ “จ.ป.ร.” รัชกาลที่ 5 เมื่อ 115 ปีก่อน ในปราสาทหินพนมวัน โคราช ถูกปล่อยทิ้งไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน ขณะชาวบ้านระบุเห็นจารึกมานานและรุ่นตาเล่าเคยเฝ้ารับเสด็จชี้เป็นการเสด็จส่วนตัวไม่มีพิธีใหญ่โต ดีใจเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์มีพระปิยมหาราชเคยเสด็จเยือน เผยปชช. นักท่องเที่ยวไม่รู้มีจารึกร.5 ในปราสาท วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญอนุรักษ์ ดูแลพัฒนาให้เป็นสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เผยหลักฐานระบุชัดเป็นการเสด็จประพาสที่โคราช ด้านนักโบราณคดียันเป็นรอยจารึกเก่าแก่ของจริง
วันนี้ (23 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านบ้านมะค่า ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ว่า มีรอยจารึก พระปรมาภิไธย อักษรย่อ จ.ป.ร. ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ร.5) เมื่อ 115 ปีก่อน บนผนังปราสาทหินพนมวัน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถูกปล่อยทิ้งไว้ขาดการดูแลจนไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาและชาวไทยมาก่อน จึงเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพบว่า ประตูชั้นในด้านทิศใต้ของปรางค์หลักปราสาทหินพนมวัน มีรอยจารึกบนแผ่นหินซึ่งมีแผ่นพลาสติกปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยแผ่นหินดังกล่าวมีความยาวประมาณ 1.30 เมตร กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร (ซม.)
ทั้งนี้อักษรที่จารึกไว้บนแผ่นศิลาเขียนเป็นภาษาไทย ด้านซ้ายระบุข้อความตัวหนังสือขนาดใหญ่ เป็นพระปรมาภิไธย อักษรย่อ จ.ป.ร. ถัดมาเป็นตัวอักษรข้อความยาวประมาณ 7 บรรทัดรายละเอียด ระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมื่อ รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ แสลงวันตามจันทรคติ วัน ๒ เดือน ๒ ขึ้น ๔ค่ำ พุทธศักราช ๒๔๔๓ จุลศักราช ๑๒๖๒”
นายเดชา ศรีนครินทร์ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52 ม. 6 บ้านมะค่า ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตั้งแต่จำความได้ สมัยเป็นเด็กมักชวนกันมาวิ่งเล่นในตัวปราสาท มีชาวบ้านบอกว่ามีรอยจารึกฝีพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็มามุงดูกัน เมื่อก่อนรอยจารึกนี้จะเห็นชัดเจน แต่เนื่องจากเวลาผ่านไปนานแผ่นศิลาเจอฝนสาด และผุกร่อนไปตามกาลเวลา ทางกรมศิลปากร จึงนำแผ่นพลาสติกมาครอบเอาไว้ในช่วงหลัง
“ คุณตาอายุ 90 ปี ซึ่งเสียชีวิตไปหลายปีแล้วเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จมาที่ปราสาทหินพนมวัน เคยได้มารับเสด็จพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นการส่วนตัว ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก ไม่มีการจัดงานต้อนรับใหญ่โต พระองค์ท่านมามาแบบชาวบ้าน ซึ่งสมัยก่อนแถบนี้มีป่าอยู่มาก ” นายเดชา กล่าว
นายเดชา กล่าวอีกว่า เชื่อว่าศิลาจารึกดังกล่าวเป็นฝีพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แน่นอน และอยากให้ส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลรักษาส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคุณค่า และอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ ให้เป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นที่กราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ไม่ใช่เฝ้ารอแต่งบประมาณมาบูรณะและปล่อยทิ้งไว้เหมือนเช่นปัจจุบันนี้
ด้าน นายสมเดช ลีลามโนธรรม นักโบราณคดี ชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จารึกดังกล่าว เป็นจารึกเก่า แก่ที่อยู่คู่ปราสาทหินพนมวันมานาน และเป็นแผ่นจารึกของจริง ซึ่ง ประตูชั้นนอกจะมีทับหลังนารายณ์ประดิษฐานอยู่ และด้านล่างตรงประตูจะมีการจารึกอักษรขอมโบราณ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทหินพนมวัน ส่วนจารึกดังกล่าวจะเป็นฝีพระหัตถ์ของ ร. 5 หรือไม่นั้นและพระองค์ท่านเสด็จมาปราสาทพนมวันจริงหรือไม่ คงต้องไปค้นคว้าประวัติศาสตร์การเสด็จของพระองค์ท่านก่อน
ส่วนการเจ้าหน้าที่นำแผ่นพลาสติกไปครอบไว้นั้น เพื่อต้องการรักษาแผ่นจารึกโบราณดังกล่าวไว้ไม่ให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวไป ขีดข่วน ลบ หรือ ทำลายจารึกให้เสียหาย
นายสมเดช กล่าวอีกว่า ปราสาทหินพนมวัน เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 เข้าใจว่าเป็นเทวสถาน ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็นพุทธสถานจากจารึกที่พบที่ปราสาทหินพนมวัน เรียกปราสาทแห่งนี้ว่า เทวาศรมิ อาคารของโบราณสถานที่เห็นในปัจจุบัน มีปรางค์จัตุรมุขเป็นประธานหลักหันหน้าสู่ทิศตะวันออกและมีมณฑปอยู่ด้านหน้า เป็นปราสาทหินที่มีรูปแบบเดียวกับปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในบันทึกการเสด็จประพาสนครราชสีมาของ ร. 5 วันที่ 24 ธ.ค. 2443 หน้าที่ 113-114 ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับแผ่นจารึกที่ปราสาทหินพนมวันดังกล่าว มีความว่า “… แล้วเสร็จทรงม้าพระที่นั่งไปประพาสวัดพนมวัน ทอดพระเนตวิหารอันเป็นของโบราณทำด้วยศิลาแท่งใหญ่ ๆ ประดับซ้อนขึ้นไป แล้วทรงจารึกพระบรมนามาภิไธยเป็นอักษรย่อ จ.ป.ร. ในแผ่นศิลาฝาผนึกวิหาร แลมีอักษรว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมื่อ รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ แสลงวันตามจันทรคติ วัน ๒ เดือน ๒ ขึ้น ๔ค่ำ พุทธศักราช ๒๔๔๓ จุลศักราช ๑๒๖๒…”
อนึ่งในการเสด็จประพาสไปยังที่ต่างๆ พระองค์จะทรงจารึกอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. เป็นที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนิน ต่อมาสถานที่เหล่านั้น กลายเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีค่าควรแก่การศึกษา และอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ