ห้องปฏิบัติการแสงสยาม แห่งใหญ่ในอาเซียนเปิดบ้านต้อนรับครูทั่วประเทศ เข้าสัมผัสเทคโนโลยีแสงขั้นสูงในกิจกรรม “ค่ายซินโครตรอน เพื่อครูวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 6” ครูไทยแห่เข้าร่วมล้น อัดแน่นความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ 4 วันเต็ม หวังส่งเสริมสนับสนุนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา เพื่อปันนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เพิ่ม
วันนี้ (26 ต.ค.) ที่สถา บันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.น.ท.ดร. สราวุฒิ สุจิตรจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันฯ จัดกิจกรรมค่ายซินโครตรอน เพื่อครูวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 6 ขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 ต.ค. 2558 ที่ห้องปฏิบัติการแสงสยาม อาคารสิรินธรวิชโชทัย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา โดยได้รับความสนใจจากครูสอนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก
ทั้งนี้เพื่อ ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ระหว่างครูวิทยาศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ของซินโครตรอน อีกทั้งเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ของครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ไปสู่การศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน
โดยตลอดระยะเวลาการเข้าค่ายทั้ง 4 วัน ครูทุกคนได้รับการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีแสงขั้นสูงทางด้านแสงซินโครตรอน โดยมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีการบรรยายในหัวข้อ Accelerator and Production of Synchrotron Light” และ “Beamlines at Siam Photon Laboratory” โดย ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค การบรรยายพิเศษจาก ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2558
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของครูตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครูฟิสิกส์ภาคฤดูร้อน Science Research Education (TRA) Program ณ LLNL สหรัฐอเมริกา และครูฟิสิกส์ภาคฤดูร้อน CERN อีกด้วย
สำหรับภาคปฏิบัติ เน้นฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม แบ่งกลุ่มย่อยปฏิบัติการตามสถานีทดลอง เพื่อทำการทดลองในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ศึกษาโครงสร้างนาโนคอลลาเจนในเส้นเอ็น การตรวจหากำมะถันในพืชสมุนไพร ฟิสิกส์ของเตาไมโครเวฟ ระบบแม่เหล็กสำหรับเครื่องเร่งอนุภาค เป็นต้น ในโอกาสนี้ยังได้ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการนำเสนอผลงานด้วยการรายงานกลุ่มต่อที่ประชุม นักวิจัยพี่เลี้ยงและผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ค่ายซินโครตรอนเพื่อครูวิทย์ฯ ครั้งนี้ คณะครูผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างให้ความสนใจและจะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงขั้นสูง ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ต่อไป