“วีระ” นำทัพสื่อลงพื้นที่บุกพิสูจน์สร้างฝายปิดกั้นลำคลองสาธารณะในไร่ ของ“พล.ต.อ. ศรีวราห์” รอง ผบ.ตร. ที่ปากช่อง โคราช หลังทิ้งบอมยื่นร้อง“ผบ.ตร.” จี้สอบเอาผิดทั้งวินัยและอาญา กับ “พล.ต.อ.ศรีวรา” เผยผิดหวังนำคณะสื่อเข้าพื้นที่ไม่ได้ พบล็อกประตูแน่น พร้อมขึ้นป้ายหราห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต
ช่วงบ่ายวันนี้ ( 8 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ได้พาคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการก่อสร้างฝายปิดกั้นลำคลองสาธารณะ ในบริเวณไร่ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา หลังเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ตรวจสอบเอาผิดทั้งวินัยและอาญา กับ พล.ต.อ.ศรีวรา ตามที่ได้กล่าวหาในกรณีดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม นายวีระและคณะสื่อมวลชน ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณไร่ได้เพราะมีรั้วล้อมรอบทั้งบริเวณ อีกทั้งประตูถูกปิดและล็อกด้วยกุญแจอย่างแน่นหนา นอกจากนี้ยังมีป้ายห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต มองเห็นได้เด่นชัด
โดยขณะที่ คณะของนายวีระ และสื่อมวลชน เดินทางไปถึงไร่ ได้มีผู้ที่เฝ้าดูแลอยู่ภายในไร่นำกล้องถ่ายภาพมาบันทึกภาพ นายวีระ และสื่อมวลชนทุกคน ซึ่งเมื่อไม่สามารถเข้าไปภายไร่ได้ นายวีระ ได้แจ้งให้ใช้โดรนบินสำรวจดูบริเวณข้างในแทน
จากนั้น นายวีระ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ที่มาวันนี้เพื่อพาสื่อมวลชนมาดูของจริงบริเวณที่มีการสร้างฝายขวางทางน้ำภายในไร่ของ รอง ผบ.ตร. ว่ามีการก่อสร้างที่ถูกต้องหรือไม่ มีการขออนุญาตก่อสร้างไหม หากมีการขอนุญาตถูกต้องก็ให้นำมาแสดงให้ดู ก่อนที่จะมาให้ข่าวว่าจะมีการฟ้องร้องตน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ไร่ของ รอง ผบ.ตร. ดังกล่าว เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน ทั้งหมดจำนวน 3 แปลง เนื้อที่รวม 34 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา รับมรดกมาจากบิดา เมื่อปี 2557 ซึ่งบิดาซื้อมาจากเจ้าของเดิมตั้งแต่ปี 2515 และทำไร่มาตลอด จนเสียชีวิตเมื่อปี 2557 ฝายดังกล่าวเป็นฝายดินกั้นระหว่างที่ดิน 2 แปลง สามารถข้ามไปมาหากันได้ และสร้างมานานแล้วก่อนที่ รอง ผบ.ตร. จะมาปรับปรุงฝายไม่ให้พังในช่วงมีน้ำป่าไหลหลาก และระบุว่า มีการขออนุญาตถูกต้อง
นายเสกสันต์ ทองสวัสดิ์วงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ปากช่อง กล่าวว่า เดิมทีฝายแห่งนี้เป็นฝายดินมีมาตั้งนานแล้ว หากฝนตกมีน้ำมากจะพังตลอด และเป็นลำน้ำที่ไม่ใช่คลองสายหลักแต่เป็นคลองสาขา ซึ่งมีการขออนุญาตถูกต้องตั้งแต่ปี 2558 โดยไปยื่นขอที่กรมเจ้าท่า แต่ทางกรมเจ้าท่ามอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลเรื่องการขออนุญาต และมีการปรับปรุงฝายนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมยกให้เป็นสมบัติของ อบต.
ส่วนพื้นที่ท้ายฝายแห่งนี้ไม่มีบ้านเรือนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด อีกทั้งเวลามีเหตุเพลิงไหม้ทาง อบต. สามารถเข้าไปสูบน้ำมาใช้ได้