เมื่อวันที่ 2 เม.ย. พ.ต.ท.สรรเสริญ กรีอารี พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เปิดเผยถึงกรณีการติดแร็กขนจักรยาน (ไบก์ซีเคิล แร็ก) ว่า การบรรทุกของตามปกติตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 จะติดตั้งแร็กหลังคา และขนจักรยานบนหลังคาได้กรณีที่เป็นรถยนต์ ด้านหน้ายื่นไม่เกินหน้ารถหรือกันชน ด้านหลังยื่นพ้นตัวรถไม่เกิน 2.50 เมตร ด้านข้างไม่เกินตัวรถ ปกติตัวถังกว้างไม่เกิน 2.30 เมตร ติดตั้งความสูงไม่เกิน 3 เมตรนับจากพื้นทาง รวมถึงรถบรรทุกที่ตัวถังกว้างตั้งแต่ 2.31 เมตรขึ้นไปติดตั้งได้สูงไม่เกิน 4 เมตร
พ.ต.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า ต่อมาภายหลังมีประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ประกอบพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 อนุญาตให้รถยนต์สามารถบรรทุกจักรยานยื่นพ้นตัวรถด้านหลังได้ 2.50 เมตร แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยตอนกลางวันต้องติดธงสีแดงไว้ที่ตอนปลายสุดของจักรยานที่ยื่นออกไปให้มองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ส่วนกลางคืนต้องติดตั้ง
สัญญาณไฟสีแดงแทนธง เพื่อความปลอดภัยของการใช้เส้นทาง ทั้งนี้ กรณีการใช้แร็กรุ่นติดหลังคารถ ไม่ต้องนำรถไปให้ตรวจสภาพ และไม่ต้องเพิ่มเติมรายการแร็กในทะเบียนรถ โดยถือว่าแร็กขนจักรยานเป็นอุปกรณ์เล็กน้อย จึงยังไม่ได้กำหนดให้ต้องเพิ่มเติมรายการในทะเบียน
“บก.จร.ยืนยันว่าควบคุมดูแลการติดแร็กขนจักรยานได้ตามพ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ.2522จัดให้มีสิ่งปกคลุมสิ่งของกรณีสิ่งของตกหล่นหรือสิ่งที่ยื่นออกมาจากตัวรถทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือทำอันตรายแก่รถคันอื่น ดูที่เจตนาได้ว่าทำให้เกิดความประมาทหรือไม่ ถึงแม้ว่า นายทะเบียนจะไม่จดทะเบียนให้ก็ตาม ซึ่งพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ถือว่าเป็นการต่อเติมหรือดัดแปลงรถ จึงต้องแจ้งต่อนายทะเบียนให้ทราบคล้ายกับกรณีรถปิกอัพ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจับกุมได้หากไม่ดำเนินการตามกฎหมาย” พ.ต.ท.สรรเสริญกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้พิจารณาว่าจำเป็นต้องยื่นให้นายทะเบียนตรวจสอบมาตรฐานการติดตั้งแร็กหรือไม่ให้ชัดเจนต่อไป