ทูตกัมพูชา เยี่ยมแรงงานเขมรในโรงงานแปรรูปไก่ CPF โคราช เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของแรงงาน พร้อมดูขบวนการผลิตไก่ระดับโลก เผยพอใจโรงงานดูแลแรงงานเขมรดีเทียบเท่าคนไทย หนุนการจัดระเบียบแรงงานของรัฐบาลไทย ชี้ทำให้แรงงานขึ้นทะเบียนถูกต้องได้รับความคุ้มครองด้านแรงงาน
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้( 29 ต.ค. ) ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ CPF ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองประธานคณะผู้บริหารสายธุรกิจอาหารแปรรูปครบวงจร CPF และนายสุชาติ สิทธิชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสCPF พร้อมด้วยผู้บริหาร ซีพีเอฟ นครราชสีมา ให้การต้อนรับ H.E.Mrs.Eat Sophea (ฯพณฯ อีท โซเฟีย) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ในโอกาสเดินทางเข้าเยี่ยมชมการทำงานของแรงงานชาวกัมพูชา เพื่อรับฟังแนวนโยบายของบริษัทฯ เรื่องแรงงานต่างด้าว และลงพื้นที่ดูสภาพความเป็นอยู่ สวัสดิการ และมาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานชาวกัมพูชา
โดย ฯพณฯ อีท โซเฟีย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้ร่วมทอดผ้าป่าสามัคคีร่วมกับแรงงานชาวกัมพูชาที่วัดโคกเพชร อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา พร้อมเยี่ยมชมหอพักแรงงานกัมพูชาที่ทางโรงงานจัดสร้างให้จำนวน 6 หอ มีแรงงานพักอาศัยรวม 1,400 คน
นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองประธานคณะผู้บริหารสายธุรกิจอาหารแปรรูปครบวงจร CPF กล่าวว่า บริษัทตระหนักดีถึงความสำคัญของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศกัมพูชาและประเทศเมียนมาร์ในการช่วยสนับสนุนการผลิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย บริษัทฯจึงได้กำหนดเป็นนโยบายการจ้างแรงงานต่างด้าวด้วยความเท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ได้มาตรฐานสากล ตามหลักสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ สำหรับแรงงานชาวกัมพูชาที่ได้รับเลือกจะได้รับการปฎิบัติอย่างดี ตั้งแต่ตัวแทนด้านแรงงานกัมพูชาส่งมอบให้กับบริษัทฯที่ชายแดน ด่านคลองลึก ตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทั้งอาหารและพาหนะ รวมถึงการทำใบอนุญาตทำงาน ตรวจร่างกาย ฯลฯ ซีพีเอฟ.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามนโยบายจ้างตรงของบริษัทฯ หลังจากนั้นแรงงานชาวกัมพูชาจะได้รับความรู้และการฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นเวลา 5 วันก่อนเข้าทำงานจริงในสายการผลิต รวมถึงการจัดหอพัก และรบรับ-ส่งฟรี ระหว่างที่พักกับโรงงานให้ เพื่ออำนวยความสะดวก นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิต่างๆตามกำหมายแรงงานไทยเท่าเทียมกับแรงงานไทย เช่น ค่าต่างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ค่าล่วงเวลา 1.5 เท่าในวันทำงานปรกติ และ 2 เท่าในวันหยุด (วันหยุดนักขัตฤกษ์ 16 วัน/ปี) ลาป่วย 30 วัน ลากิจ 7 วัน และลาพักผ่อนไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี มีประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล และเรายังคำนึงถึงความเป็นอยู่ของแรงงานชาวฯในเรื่องภาษาด้วย โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานกัมพูชา-ไทย ซึ่งมีล่ามภาษากัมพูชาประจำศูนย์ เพื่อช่วยการสื่อสารทั้งในโรงงานและกรณีฉุกเฉิน รวมถึงแรงงานที่ทำงานกับเราสามารถส่งเงินกลับไปให้ญาติที่บ้านอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเดือนละประมาณ 8,000 บาท และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ปัจจุบัน CPF มีการจ้างแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 5,050 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานกัมพูชา 4,300 คน (ปฏิบัติงานที่โรงงานโคราช 2,280 คน ที่โรงงานแปรรูปสระบุรี 1,100 คน โรงงานแปรรูปสุกร 600 คน โรงงานอาหาราสำเร็จรูป 200 คน และประมาณ 120 คน ปฏิบัติงานที่โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ แกลง จ.ระยอง) และแรงงานพม่า 750 คน (อยู่ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรี 320 คน โรงงานบางนาแปรรูปเนื้อไก่บางนา 80 คน โรงงานแปรรูปสุกร 30 คน และโรงงานแปรรูปกุ้ง 320 คน) โดยการทำงานแต่ละแห่งนั้นจะไม่ใช้แรงงานต่างสัญญาทำงานในโรงงานเดียวกันเพื่อป้องกันปัญหาทะเลาะวิวาทและอื่นๆ ที่จะตามมา ซึ่งแรงงานกัมพูชาถือเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ อดทน ไม่บ่น
ด้าน ฯพณฯ อีท โซเฟีย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเยี่ยมแรงงาชาวกัมพูชาครั้งนี้รู้สึกพอใจกับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานที่ทางโรงงานจัดสรรให้อย่างดี ได้เห็นแรงงานทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชาทำงานร่วมกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนห้องพักของแรงงานกัมพูชาจากการลงพื้นที่มีความพึงพอใจอย่างมาก สะอาด มีอนามัยที่ดี จากการสอบถามแรงงานทุกคนต่างบอกว่าพึงพอใจ ทุกคนมีสุขภาพพลานามัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส นอกจากนี้การติดต่อระหว่างแรงงานกัมพูชากับครอบครัวก็มีการติดต่อได้หลายทางทั้งทางโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ท เนื่องจากระบบสื่อสารเมืองไทยและกัมพูชาตอนนี้ทันสมัยมาก ส่วนพาสปอร์ตจาการสอบถามทราบว่าแรงงานกัมพูชาถือไว้เองทางโรงงานไม่ได้ยึดไว้แต่อย่างใด และการเดินทางไปไหนมาไหนมีความสะดวกสบาย ตนคิดว่าเรามีความพอใจอย่างยิ่งที่แรงงานกัมพูชาได้มาทำงานในสถานที่ดี สวัสดิการดี และมีรายได้ดีส่งไปให้พ่อแม่และครอบครัว
ส่วนมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลไทยนั้น ฯพณฯ อีท โซเฟีย กล่าวว่า การจัดระเบียบเกี่ยวกับการลงทะเบียนแรงงานกัมพูชาที่เอามาผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทางรัฐบาลกัมพูชาหรือสถานทูตกัมพูชาก็พึงพอใจอย่างยิ่ง เพราะทำให้แรงงานกัมพูชามีรายได้ หรือการรับสวัสดิการต่างๆเท่ากับแรงงานไทย ซึ่งเมื่อแรงงานกัมพูชาได้ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้วเขาสามารถที่จะมีสิทธิ์ออกเสียงหรือการแจ้งบอกกล่าวไปยังเจ้าหน้าที่ไทยให้ดำเนินการกับผู้ที่ทำร้ายแรงงานได้