เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เช้าปลายเดือนมีนาคม ขับรถไปปราสาทพนมรุ้ง โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินไปทางสระบุรี แล้วแยกขวาเข้าถนนมิตรภาพไปทางนครราชสีมา แวะทานอาหารกลางวันที่เขื่อนลำตะคอง เสร็จแล้วก็ขับรถไปตามทางหลวงสาย 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วขับรถตามป้ายปราสาทพนมรุ้ง ไปยังที่จอดรถด้านหน้าประตูที่ 1 ที่พิกัด N14.53262 E102.94602 รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร ถึงที่จอดรถเวลาประมาณเกือบบ่าย 3 โมง อากาศที่เขาพนมรุ้งในวันนั้นค่อนข้างครึ้ม ไม่ค่อยมีแดด จอดรถเสร็จก็เดินผ่านร้านขายของที่ระลึกขึ้นเขาไปยังปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทหินพนมรุ้งหรือปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานในศิลปะเขมรที่มีความงดงาม ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง (ภูเขาพนมรุ้งคือภูเขาไฟเขาพนมรุ้งที่ดับสนิทแล้ว) มีภูมิทัศน์สวยงาม และมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พระอาทิตย์ขึ้นและตกแสงอาทิตย์สาดส่องทะลุ 15 ช่องประตูของปราสาทพนมรุ้ง ทุกๆ ปีจะมีปรากฏการณ์ดังกล่าว 4 ครั้ง โดยตัวปราสาทตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด ดังนั้นเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของเทพพระศิวะ
ทางเดินขึ้นปราสาทพนมรุ้ง ช่วงแรกเป็นทางราบ พอสุดทางราบก็จะเป็นบันไดขึ้นไปยังสะพานนาคราชชั้นที่ 1
ก่อนถึงสะพานนาคราชชั้นที่ 1 จะมีทางเดินที่ทั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูม เรียกว่า “เสานางเรียง” มีข้างละ 34 ต้น ทอดตัวไปยังสะพานนาคราช 1 ซึ่งยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร
สะพานนาคราช 1 เชื่อกันว่า เป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า
จากสะพานนาคราช 1 มีบันไดศิลาแลงค่อนข้างชันจำนวน 52 ขั้น ขึ้นไปยังลานบนยอดเขาพนมรุ้ง จะเห็นปราสาทพนมรุ้งเด่นสง่า สวยงามอยู่ข้างหน้า
ปราสาทประธาน ปราสาทพนมรุ้ง ก่อด้วยหินทรายสีชมพู เชื่อกันว่าสร้างโดยพระนเรนทราทิตย์ เป็นผู้นำการปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ภายในตรงกึ่งกลาง เรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดคือ “ศิวลึงค์” ซึ่งแทนองค์พระศิวะ
สิ่งสำคัญอีกอย่างของปราสาทพนมรุ้งก็คือ ภาพสลักพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทรงอยู่ที่ทับหลังของมณฑป ด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา เหนือพระยาอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร โดยมีพระนางลักษมีซึ่งเป็นเทพีแห่งความงาม และเป็นพระมเหสีคอยปรนนิบัติพัดวีมิให้ยุง ริ้น ไร มาไต่ตอมพระนารายณ์ เพื่อให้บรรทมหลับพักผ่อนให้สบาย
“ศิวลึงค์” ตัวแทนองค์พระศิวะ ในห้องครรภคฤหะ
อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของปราสาทพนมรุ้ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันหมดในคราวเดียวกัน ได้มีการก่อสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อการนับถือศาสนาของชุมชนขึ้นเป็นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ได้แก่ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐานเท่านั้น
อาคาร ก่อด้วยศิลาแลงเรียกว่า “บรรณาลัย” เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนาของศาสนาฮินดู
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็น โบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ต่อมาได้มีการบูรณะปราสาทพนมรุ้งหลายครั้ง และได้เปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
นอกจากเขาคิชฌกูฏที่จันทบุรีแล้ว เขาพนมรุ้งก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตจะต้องขึ้นเขาไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้ ชาวบ้านเชื่อกันว่า ปราสาทพนมรุ้งเป็นที่สถิตของเทพเจ้า
ก่อนปี พ.ศ. 2481 หลังฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ชาวบ้านชาวบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงก็จะเตรียมตัวพร้อมเสบียงอาหารที่เดินทางไกลไปยังเขาพนมรุ้ง ส่วนใหญ่มักจะนัดแนะเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องไปพร้อมๆ กันเป็นกองเกวียนขนาดใหญ่ ถ้าเป็นคหบดีมีฐานะดี ก็จะเดินทางโดยเกวียนขนาดเล็กตกแต่งสวยงามเป็นการแสดงฐานะของตัวเอง เดินทางรอนแรมกันไปหลายวันตามระยะทางใกล้หรือไกลจากหมู่บ้านของเขา การขึ้นเขาพนมรุ้งในสมัยแรกๆ นั้น เป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างไป และไปพบกันที่เขาพนมรุ้ง ชาวบ้านขึ้นไปไหว้พระบนเขาพนมรุ้งบ่อยๆ จนสังเกตเห็นว่า ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 นั้น เป็นวันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง 15 ช่องตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกของปราสาทพนมรุ้ง นับว่าสถาปนิกหรือช่างก่อสร้างชาวขอมโบราณ มีความรอบรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาก ได้วางผังปราสาทไว้ให้ตรงตามทิศตะวันออก-ตะวันตก จนในวันดังกล่าว สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง 15 ช่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
แต่ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งที่ทำกันอย่างสม่ำเสมอ น่าจะนับได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2481 เป็นต้นมา โดยมีพระภาสธรรมญาณ วัดท่าประสิทธิ์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมักจะไปธุดงค์ที่เขาพนมรุ้งเป็นประจำทุกปี เห็นว่ามีผู้คนทั้งชาวไทย ลาว เขมร มักจะขึ้นเขาพนมรุ้งมาบำเพ็ญกุศลในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (วันที่พระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงผ่านประตูทุกช่องทั้ง 15 ช่อง) เป็นจำนวนมาก ท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณเห็นว่า ประเพณีขึ้นเขาเป็นสิ่งดี ประชาชนได้มีโอกาสร่วมทำบุญ พบปะสังสรรค์ สร้างความสามัคคี และมีโอกาสได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย จึงริเริ่มให้จัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งอย่างจริงจังขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันเพ็ญเดือน 5 ปี พ.ศ. 2485 และประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งก็ได้จัดกันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับปีนี้ ทางจังหวัดบุรีรัมย์จัด “งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง” ประจำปี 2558 ชมมหัศจรรย์แสงแรกส่อง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง อลังการ อารยธรรมขอมโบราณ ยิ่งใหญ่ตระการตา วันที่ 3-5 เมษายน
ทางจังหวัดบุรีรัมย์แจ้งว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงสาดส่องผ่าน 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง เวลา 06.10 น ระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2558 ถ้าจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้น สะดวกที่สุดคงต้องไปนอนค้างรีสอร์ทใกล้ๆปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งมีไม่มากนัก ตอนเช้าออกจากที่พักประมาณ 05.00น ขับรถไปจอดที่จอดรถ แล้วเดินขึ้นเขาไปประมาณ 20-30 นาที ระยะทางเดินขึ้นเขาไปที่ปราสาทไม่ไกลมาก ทางเดินส่วนใหญ่ค่อนข้างดี ยกเว้นบันไดขึ้นไปยังปราสาท เป็นขั้นบันไดศิลาแลงแคบๆ เดินขึ้นและลงค่อนข้างลำบาก ถ้ามีผู้สูงอายุไปด้วย ต้องช่วยกันพยุงให้ดี เพราะบางช่วงขั้นบันไดชันและแคบมากๆ
ในงานจะมีกิจกรรมการแสดงมากมาย ทั้งการบวงสรวงองค์พระศิวะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง เปิดหมู่บ้านโอทอปโบราณ ให้ผู้มาเที่ยวงานได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณภาพ ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น นอกจากนี้ยังจะได้ลิ้มรสอาหารโบราณหายากจาก 23 อำเภอในงานนี้อีกด้วย
ภาพโฆษณาชวนเที่ยวงานขึ้นเขาพนมรุ้งของ ททท.
หลังจากชมปราสาทพนมรุ้งเสร็จแล้ว เราก็ขับรถต่อไปยังปราสาทเมืองต่ำ ที่พิกัด N14.49814 E102.98341 อยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้ง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้น
คำว่าเมืองต่ำนี้ ไม่ใช่คำดั้งเดิม แต่เป็นชื่อที่ชาวพื้นเมืองเรียกโบราณสถานแห่งนี้ เพราะปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ต่ำกว่าปราสาทพนมรุ้ง
ประวัติความเป็นมาของปราสาทเมืองต่ำยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวนและแบบคลัง ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ปราสาทเมืองต่ำถูกทิ้งร้างมาจนปี พ.ศ. 2490 จึงเริ่มมีชาวบ้าน มาตั้งถิ่นฐานที่นี่อีกครั้ง
พ.ศ. 2503-2539 กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจปราสาทเมืองต่ำจนเสร็จ และเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
จุดเด่นของปราสาทเมืองต่ำคือมี สระน้ำ 4 สระล้อมรอบปราสาท 5 ยอด แสดงถึงมหาสมุทรทั้ง 4 ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามคติพราหมณ์ สระน้ำดังกล่าวสันนิษฐานว่าใช้กักเก็บน้ำในการประกอบพิธีทางศาสนา
ปราสาทเมืองต่ำตั้งอยู่ใกล้สระน้ำหรือ บาราย ขนาดใหญ่ หรือเรียกกันว่า “ทะเลเมืองต่ำ” เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยที่สร้างปราสาทเมืองต่ำ
ระเบียงคดและซุ้มประตูก่อด้วยอิฐและหินทราย พื้นของซุ้มประตูยกสูงขึ้นจากพื้นลานโดยรอบ ประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลัก ด้านข้างของซุ้มประตู ทำเป็นช่องหน้าต่างทึบด้านละ 2 ช่อง
ปราสาทเมืองต่ำมีปรางค์ประธาน 5 องค์ บนฐานเดียวกัน เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานปัจจุบันได้ถล่มลงแล้ว เหลือเพียงฐานศิลาแลง สันนิษฐานว่าตัวปราสาทเป็นปราสาทหินทราย และคาดว่าเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์
จากปราสาทเมืองต่ำ เราก็ขับรถไปที่ “วัดเขาพระอังคาร” หรือ วัดเขาอังคารซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทพนมรุ้งประมาณ 20 กิโลเมตร เราขับรถไปที่จอดรถของวัด พิกัด N14.53434 E102.83479 หลังจากจอดรถเสร็จ เราก็เดินไปไหว้พระพุทธรูปปางประทับนอน ที่ตั้งเด่นสง่าอยู่ไม่ไกลจากลานที่จอดรถ
เขาพระอังคาร เป็นวัดที่สร้างมานานในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ คาดว่าน่าจะสร้างในยุคเดียวกับปราสาทพนมรุ้ง สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เห็นในวัดส่วนใหญ่จะสร้างใหม่ทับของเก่า ตัววัดตั้งอยู่บนยอดเขาพระอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 320 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นวัดที่สวยงาม ใหญ่โตแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์
วัดเขาพระอังคาร เป็นวัดที่สร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ งดงาม แปลกตา และน่าสนใจมาก รอบๆ โบสถ์ มีโบราณวัตถุที่สำคัญ “ใบเสมาหินบะซอล์ท” สมัยทวาราวดี ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13-14 อายุประมาณ 1,300 ปี
ตัวโบสถ์ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมหลายสมัย ภายในโบสถ์มีพระประธาน และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษ แต่น่าเสียดายที่ภาพและตัวหนังสือภาษาอังกฤษหลายแห่งเริ่มเลือนราง ทรุดโทรม ควรเร่งให้มีการซ่อมแซม บูรณะโดยด่วน
จุดเด่นของวัด นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสาน สวยเด่นแปลกตาแล้ว บริเวณวัดเป็นปากปล่องภูเขาไฟ คาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยทวาราวดี เพราะเสมาหินแกะสลักสมัยดังกล่าวหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า ภูเขาพระอังคารเดิมชื่อ ภูเขาลอย ที่เรียกว่าภูเขาพระอังคาร เพราะตามประวัติลายแทงธาตุพนมกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว หลังจากถวายพระเพลิงและแจกพระธาตุไปจนหมดแล้ว ก็มีเมืองๆหนึ่งมาขอพระธาตุทีหลังแต่พระธาตุได้แจกไปหมดแล้ว จึงขอธาตุพระอังคารหรือขี้เถ้าไปแทน แล้วก็เดินทางกลับไปยังทิศอีสาน พอถึงภูเขาลูกหนึ่งคือภูเขาลอย มีรูปลักษณะสวยงามเหมือนพญาครุฑนอนคว่ำหน้า เห็นตรงกันว่าน่าจะนำพระอังคารธาตุมาประดิษฐานไว้ที่แห่งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2520 พระอาจารย์ปัญญา วุฒิโธ ได้สร้างวัดขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรม สวยแปลกตาดังที่เห็นในปัจจุบัน
หลังจากไหว้พระที่วัดเขาพระอังคารเสร็จแล้ว เราก็ขับรถไปทานอาหารเย็นที่ร้านขาหมูชื่อดังในอำเภอนางรอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเขาพระอังคารนัก
ที่อำเภอนางรองมีร้านขาหมูชื่อดังอยู่หลายร้าน แต่ที่เป็นที่นิยมมากกว่าร้านอื่นๆ ก็คือร้าน “จิ้งนำ” นางรองขาหมู ร้านสะอาด กว้างขวาง อยู่ริมถนนใหญ่ อาหารแนะนำที่นี่คือ ขาหมู หมั่นโถว กระเพาะปลาผัดแห้ง นอกจากอาหารจีนแล้ว ทางร้านก็ยังมีอาหารไทยอร่อยๆ เช่น ปลาคังผัดฉ่า อีกด้วย
ขาหมู หมั่นโถว
กระเพาะปลาผัดแห้ง
ปลาคังผัดฉ่า
ภายในร้านกว้างขวาง สะอาด
ร้านอยู่ติดถนนใหญ่
หลังจากทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว เราก็ขับรถไปนอนค้างคืนที่เขาใหญ่ก่อนกลับกรุงเทพฯ ในวันต่อมา