กรมปศุสัตว์เดินหน้ายกระดับมาตรฐานร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์เพื่อผู้บริโภค ตามนโยบายกรมฯ มอบป้ายปศุสัตว์ OK แก่ 109 เถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน (CP Pork Shop) ในโครงการ “9 จังหวัด 109 เถ้าแก่เล็ก สู่ก้าวใหม่ใส่ใจผู้บริโภค ด้วยมาตรฐานปศุสัตว์ OK” ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยส่งต่ออาหารปลอดภัยให้ชุมชน
น.สพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดนโยบายให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน เพื่อดูแลและปกป้องสุขภาพคนไทย ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินโครงการอาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเนื้อสัตว์ปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค หรือ ปศุสัตว์ OK ที่เพิ่มมาตรการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิตของเนื้อสัตว์ เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้การรับรอง ปศุสัตว์ OK เนื้อสัตว์ต้องมาจากฟาร์มที่ได้รับรองฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ผ่านโรงฆ่าที่ถูกต้องตามกฎหมายและถูกสุขลักษณะ และจำหน่ายในร้านที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจว่าสินค้าในสถานที่จำหน่ายดังกล่าวมีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัย ด้วย ปลอดสารเร่งเนื้อแดง และปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ
น.สพ.สรวิศ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการปศุสัตว์ OK ขยายสู่ผู้ประกอบการกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ ทั้งร้านจำหน่ายเนื้อหมูขนาดใหญ่-Meat shop ห้าง Modern trade ร้านค้าในตลาดสด โดยเฉพาะร้านจำหน่ายเนื้อหมูในลักษณะตู้หมูชุมชนที่เร่งดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าโครงการจะบรรลุเป้าหมาย 4,000 แห่ง ภายในปีนี้ โดยกรมฯยังคงสนับสนุนให้ร้านค้าจัดเก็บผลิตภัณฑ์ก่อนจำหน่ายในตู้แช่เย็น เพื่อคงคุณภาพของเนื้อสัตว์ก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นใจได้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย
“กรมฯจะมีการสุ่มตรวจผู้ประกอบการที่ได้การรับรองมาตรฐานปีละ 1 ครั้ง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อติดตามและตรวจสอบผู้ประกอบการมีการรักษามาตรฐานตลอดอายุการรับรอง” น.สพ.สรวิศ กล่าว
นอกจากกรมปศุสัตว์ได้ขยายการรับรองเนื้อสัตว์ ในโครงการ “9 จังหวัด 109 เถ้าแก่เล็ก ก้าวใหม่ ใส่ใจผู้บริโภคด้วยมาตรฐานปสุสัตว์ OK” แล้ว กรมฯ ยังได้ขยายการรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์แก่ผู้ประกอบการรายย่อยตู้หมูชุมชนที่กระจายไปยังหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่ห่างไกลแล้ว ปัจจุบันยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการทั่วไปอีกหลายราย ที่แสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการ ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ยังคงเดินหน้าแผนขยายขอบข่ายการรับรองไปยังสินค้าอื่นๆ อาทิ ไข่สด เพื่อให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าถึงสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองให้มากที่สุด
โครงการดังกล่าว ริเริ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายกรมปศุสัตว์ที่มุ่งเน้นขยายผลโครงการนี้ให้กระจายไปทั่วประเทศ เพื่อส่งต่ออาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคของทุกพื้นที่ ได้แก่ ปศุสัตว์จังหวัดในภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร
ด้าน นายสืบศักดิ์ ศรีสุข เถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนเองและเพื่อนๆเถ้าแก่เล็กฯ ทั้ง 109 ราย ที่ร่วมโครงการ ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องเทคนิคการขายและการบริหารร้านค้าปลีก และความรู้เรื่องร้านจำหน่ายสุกรปลอดภัยตามมาตรฐานปศุสัตว์ OK เพื่อให้มีพื้นฐานที่ดีในการก้าวสู่การเป็นเถ้าแก่เล็กมืออาชีพที่สามารถส่งต่อเนื้อหมูปลอดสาร อาหารปลอดภัยถึงมือผู้บริโภคต่อไป
“ขอขอบคุณกรมปศุสัตว์ที่มีนโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้เถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชนทุกคนได้ร่วมโครงการดีๆเช่นนี้ โครงการนี้เป็นการตอกย้ำว่าทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยในอาหารและสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง” นายสืบศักดิ์ กล่าว
ส่วน นางสาวปฎิมา ทั่วสูงเนิน ตัวแทนเถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนเองร่วมโครงการเถ้าแก่เล็ก CP Pork Shop เนื่องจากเป็นโครงการที่ซีพีเอฟมุ่งสร้างอาชีพและรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป ซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตลาดได้มีกิจการเป็นของตนเองและมีรายได้ที่มั่นคง ได้ทำงานอยู่กับบ้านและครอบครัวแล้ว ยังได้ห่วงโซ่สำคัญในการส่งมอบเนื้อสุกรที่ปลอดภัยให้กับคนในชุมชนของตนเอง ที่สำคัญการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้เถ้าแก่เล็กได้ร่วมกันยกระดับมาตรฐานในโครงการปศุสัตว์ OK ยิ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์และช่วยสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น
“เถ้าแก่เล็กทุกคนมีความยินดีมากที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการปศุสัตว์ OK พวกเรารู้สึกภูมิใจมากที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ที่นอกจากจะทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าเนื้อหมูที่เราขายมีคุณภาพแล้ว ตัวผู้ขายเองก็มั่นใจยิ่งขึ้นว่าเนื้อหมูที่เราขายนั้นสด สะอาด ปลอดภัย เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะตรวจสอบทั้งที่ร้าน และตรวจสอบย้อนกลับไปที่บริษัทว่าผ่านกระบวนการชำแหละและการเลี้ยงสุกรที่ได้มาตรฐาน นำไปสู่การบริโภคอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง” นางสาวปฎิมา กล่าว