“ป.ป.ท.” เร่งชงเรื่องนายช่างรังวัด ส.ป.ก.โคราชฮุบป่าเขาใหญ่เข้า คกก.ชุดใหญ่ 6 พ.ค.นี้ เพื่อชี้มูลความผิดเชือด 8 ขรก.ร่วมขบวนการทุจริตออกโฉนดมิชอบ แฉรายชื่อเรียงตัวเป็นแก๊งเดียวกับออกโฉนดฮุบชะง่อนผาเขาหนองเชื่อมฉาว คาดใช้เวลา 6 เดือนแล้วเสร็จ ขณะ ส.ป.ก.โคราชเผยพื้นที่ดังกล่าวยังไม่จัดสรรให้เกษตรกร ส่วนกรณีนายช่างรังวัดมีโฉนดต้องตรวจสอบได้มาโดยชอบหรือไม่ ย้ำให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้ากรณี ชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรม นำโดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.อ.สมหมาย บุษบา หัวหน้าคณะทำงานเพื่อความมั่นคงกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 และคณะ ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม (ส.ป.ก.) กรณีเจ้าหน้าที่รัฐนำส.ค.1ไปออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินเกินเนื้อที่และบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก. กว่า 130 ไร่ บริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หมู่ 3 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภารัฐ ( ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า กรณีของ นางพรทวี สุตันติราษฏร์ นายช่างรังวัด ส.ป.ก.นครราชสีมา ที่นำ ส.ค. 1 เลขที่ 19 หมู่ 3 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 30 ไร่ ไปออกเป็นโฉนดที่ดินเนื้อที่กว่า 155 ไร่ ในนามของ นายสุวัฒน์ สุตันติราษฎร์ สามี และได้ออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ส.ป.ก. มากกว่า 130 ไร่ จากนั้นได้มีการจัดสรรขายให้กับข้าราชการหลายคนราคาไร่ละกว่า 10 ล้านบาท
โดยจากการตรวจสอบ ส.ค.1 แปลงดังกล่าว พบว่า มีพื้นที่ข้างเคียงจรดป่า ตามระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2532) ให้ถือระยะตามที่ระบุไว้ในหลักฐาน ส.ค. 1 ซึ่งกรณีนี้หากถือตามระยะ จะออกเอกสิทธิโฉนดที่ดินได้จำนวน 25 ไร่เท่านั้น แต่กลับมีการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และเจ้าหน้าที่เดินสำรวจ ในการทุจริตออกโฉนดที่ดินครั้งนี้ ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ร่วมกันออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินโดยมิชอบ จำนวน 30-40 แปลง กว่า 330 ไร่ บริเวณชะง่อนผาเขาหนองเชื่อม ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ทหารศูนย์สงครามรบพิเศษลพบุรี ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมีชื่อข้าราชการะดับสูงหลายราย ทั้งระดับนายพลตำรวจ อัยการ อาจารย์มหาวิทยาลัยและญาตินักการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินและบ้านพักตากอากาศหรู
ทั้งนี้จากการตรวจสอบขบวนการทุจริตในการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ตามระเบียบ นั้น พื้นที่ ส.ป.ก.หากจะออกเอกสารสิทธิจะมีการส่งหลักฐานมาที่ ส.ป.ก.เพื่อตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ตรวจสอบกลับไม่คัดค้านทั้งที่มีการรุกล้ำพื้นที่ ส.ป.ก. กว่า 130 ไร่ และขัดต่อระเบียบกฎหมาย
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย 1.นายอรุณ สหธรรมปกรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน , 2.นายชูชีพ หอขุนทด นายช่างรังวัด เดินสำรวจปักหลักเขต ,3. นายจงกล ชาติบุษป์ เจ้าหน้าที่สอบสวนสิทธ์, 4.นายสัญญา กาญจนแก้ว ผู้กำกับการรังวัด ,5.นางมารินี คงปราบ ผู้กำกับการเดินสำรวจ ,6. นางพรทวี สุตันติราษฏร์ นายช่างรังวัด ส.ป.ก.นครราชสีมา, 7.นายรดิษฏีก์ ปรุงโพธิ์ นิติกร ส.ป.ก. , 8. นายทินกร การรักษา นิติกรชำนาญการพิเศษ ส.ป.ก. (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระบุรี) และ นายสุวัฒน์ สุตันติราษฎร์ นักธุรกิจ ผู้ออกโฉนดที่ดิน สามี นางพรทวี
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเสนอเข้าคณะกรรมการ ป.ป.ท.ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะนำเสนอข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมของ ป.ป.ท.อีกครั้งเพื่อชี้มูลความผิด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
ด้าน นายชำนาญ กลิ่นจันทน์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในพื้นที่บริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หมู่ 3 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่มีปัญหาการบุกรุกและเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอยู่ในขณะนี้ ทาง ส.ป.ก.ได้รับมอบพื้นที่มาจากกรมป่าไม้ โดยจำแนกจากป่าเขาใหญ่ เมื่อปี 2534 แต่เนื่องจากมีพื้นที่ภูเขาอยู่จำนวนมาก ทาง ส.ป.ก.จึงยังไม่มีการจัดสรรให้แก่เกษตรกรเข้าไปทำกิน ซึ่งจากการเข้าตรวจสอบพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรม คณะของ พ.ต.อ.ดุษฎี พบว่า มีการปลูกสร้างบ้าน 3 หลัง จึงได้ให้ เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ที่ดูแลพื้นที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์พร้อมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้แล้ว
ส่วนกรณีของนายช่างรังวัด ส.ป.ก. นั้น ล่าสุดได้เดินทางไปช่วยราชการที่ ส.ป.ก.ส่วนกลาง ตามคำสั่งย้ายด่วนแล้ว การตรวจสอบจะต้องดูว่าเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินที่ได้มาถูกต้องหรือไม่และได้มาก่อนที่ ส.ป.ก.ได้รับการจัดสรรหรือไม่ โดยเป็นหน้าที่ของที่ดินจังหวัดจะต้องให้คำตอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า สำหรับป่าเขาใหญ่ เดิมได้ถูกกำหนดเป็นป่าไม้ของชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 พ.ย.2504 ต่อมา ครม. ได้มีมติเมื่อ 12 พ.ย. 2506 เห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการจำแนกประเภทที่ดิน ครั้งที่ 11/2505 วันที่ 4 ธ.ค. 2505 คณะเจ้าหน้าที่วิชาการมีความเห็นว่า พื้นที่เป็นเทือกขาสูงใหญ่สลับซับซ้อนมีไม้มีค่าสมบูรณ์ดี ทางราชการกำลังดำเนินการจัดเป็นอุทยานแห่งชาติ ควรรักษาไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยดำเนินการอพยพราษฎรที่ถือครองออก เนื้อที่ประมาณ 651,100 ตร.กม.
จากนั้น ครม.ได้มีมติเมื่อ 3 มี.ค. 2530 เห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินครั้งที่ 6/2527 วันที่ 26 ธ.ค. 2527 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 37,625 ไร่ โดยรักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวรเนื้อที่ประมาณ 3,729 ไร่ จำแนกออกให้ราษฎรทำกินและใช้ประโยชน์อย่างอื่นเนื้อที่ประมาณ 33,896 ไร่ โดยมอบให้ ส.ป.ก.ทั้งหมด