รพ.กรุงเทพราชสีมา ทุ่มกว่า 160 ล้าน ผุดศูนย์มะเร็ง ชูเครื่อง PET/CT Scan เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งทันสมัยที่สุดในอีสานใต้ วินิจฉัยระยะป่วยมะเร็งได้แม่นยำไม่ต้องเดินทางไปไกล เผยเป็นเครื่องแรกของโคราช และอีสานใต้ ค่ารักษาไม่แพงอย่างที่คิดเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งมีทางเลือกมากขึ้น
วันนี้ (24 ก.ย.) พล.ต.นพ.วสันต์ สุเมธสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา เปิดเผยว่า โรคมะเร็งกลายมาเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยปีที่ผ่านมา พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับ 1 และมีแนวโน้มของผู้ป่วยมะเร็งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โรคมะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรง ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนใหญ่คิดว่าเป็นแล้วไม่สามารถรักษาได้ แต่หากสามารถตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก และให้การรักษาผู้ป่วยที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรค และสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งได้
การรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพนั้น ชนิด และวิธีการรักษาจะต้องสอดคล้องต่อระยะโรคที่เป็นอยู่จริง การกำหนดระยะของโรคที่คลาดเคลื่อนย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ในภาคอีสานจะมีปัญหาเรื่องการเดินทางไปรักษา เนื่องจากมีสถานพยาบาลไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในเรื่องรักษามะเร็ง หรือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย
จากปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาจึงสร้าง “ศูนย์มะเร็ง” ขึ้น โดยทดลองเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2558 ที่ผ่านมา และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ย.2559 นี้ โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชหารจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานเปิดศูนย์มะเร็งในครั้งนี้
สำหรับศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งสร้างอาคารส่วนแยกจากอาคารโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ประมาณ 60 ล้านบาท และได้นำเครื่อง PET/CT Scan ซึ่งเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จากโรงพยาบาลวัฒโนสถ กรุงเทพฯ มาไว้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ปัจจุบัน ในภาคอีสานมีแค่ 2 เครื่องเท่านั้น คือ ที่ จ.ขอนแก่น และที่ โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาให้บริการตั้งแต่การให้คำปรึกษา แนะนำ วินิจฉัยโรค ให้การรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ โดยทีมแพทย์ และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีประสบการณ์ด้านมะเร็ง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลวัฒโนสถ ในด้านต่างๆ เช่น การทำ Teleconference ร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ เพื่อเลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลน เช่น นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ เป็นต้น
พล.ต.นพ.วสันต์ กล่าวว่า เครื่อง PET/CT Scan เป็นเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัย และบอกระยะของโรคมะเร็งได้ถูกต้องแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่ไม่จำเป็นให้แก่ผู้ป่วยได้อีกด้วย
สำหรับการเปิดให้บริการ PET/CT Scan ของศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา เน้นการให้บริการแก่ประชาชนใน จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง โดยในช่วงการเปิดให้บริการ PET/CT Scan ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ได้จัดโครงการคืนกำไรสู่สังคมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย และมีความจำเป็นต้องติดตามผลการรักษาที่ต้องอาศัยวิธีตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่อง PET/CT Scan โดยทางโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา จะให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นจำนวน 9 ราย ซึ่งปกติต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการวินิจฉัยด้วยเครื่องPET/CT scan ครั้งละประมาณ 35,000-40,000 บาท
ด้าน นพ.ทวี ยิ่งสง่า แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ กล่าวว่า เครื่อง PET/CT scan ช่วยให้การกำหนดระยะของโรคถูกต้องแม่นยำขึ้น จะช่วยบอกแพทย์ให้ทราบว่า โรคมะเร็งนั้นตอบสนองต่อการรักษาที่ให้หรือไม่ ถ้าไม่ตอบสนองแพทย์สามารถเปลี่ยนชนิดของยา หรือการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ลดผลข้างเคียงจากยา และลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์
เครื่อง PET/CT scan เป็นเครื่องตรวจทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยนำเครื่องมือตรวจด้านรังสี 2 ชิ้น คือ PET Scan และ CT Scan มารวมเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวกัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือทั้ง 2 ชิ้น ทำให้แพทย์สามารถบอกตำแหน่งของรอยโรคควบคู่กับระดับการทำงานของเซลล์ ทำให้เพิ่มความชัดเจน และความแม่นยำยิ่งขึ้น
กระบวนการตรวจ PET/CT scan ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสีซึ่งเป็นอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคส ติดฉลากกับสารกัมมันตรังสีที่สลายตัวที่ให้รังสีโพสิตรอน เข้าทางหลอดเลือดดำ สารเภสัชรังสีที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไปในร่างกายจะไปสะสมอยู่ในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ชนิดของเนื้อเยื่อ แล้วเปล่งรังสีออกมาจากเนื้อเยื่อนั้น เซลล์มะเร็งสามารถจับน้ำตาลชนิดพิเศษนี้ได้มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ทำให้เราเห็นเป็นจุดสว่างเรืองแสงชัดเจนกว่าการเรืองแสงของเนื้อเยื่อปกติในร่างกาย แพทย์จะใช้เครื่อง PET/CT scan ถ่ายภาพรังสีในร่างกาย ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบมะเร็งนั้นได้
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคซึ่งมีเซลล์ผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสิ่งก่อมะเร็ง เช่น สารเคมี ไวรัส รังสี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง และในที่สุดเซลล์ปกติจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ถ้าระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถทำลายเซลล์นั้นได้ เซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นก้อนมะเร็ง และเมื่อเป็นมะเร็งของอวัยวะสำคัญ หรือมะเร็งแพร่กระจายเข้าอวัยวะสำคัญ ได้แก่ ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก และไขกระดูก อวัยวะเหล่านั้นจะล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer Screening) เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจค้นหาโรคมะเร็งระยะแรกเริ่มในผู้ที่ยังไม่มีอาการของโรค เพื่อประเมินว่ามีผู้ใดบ้างที่มีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจร่างกายด้วยตนเอง และโดยแพทย์ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเสมหะ การตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา การตรวจทางรังสี เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การเอกซเรย์เฉพาะอวัยวะ และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจโดยการส่องกล้องโดยตรง เช่น การตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหาร และลำคอ เป็นต้น
ทั้งนี้ มีสัญญาณอันตราย 7 ประการ ที่ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่ 1.มีเลือด หรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป 2.มีก้อน หรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ 3.มีแผลเรื้อรัง 4.มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม 5.เสียงแหบ ไอเรื้อรัง 6.กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 7.มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีภูมิต้านทานแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเริ่มต้นจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้แจ่มใส