ผู้ยากไร้โคราชกว่าหมื่นคนแห่รับของบริจาคในงานประเพณีทิ้งทานของมูลนิธิกู้ภัย สว่างเมตตาธรรมสถานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว และช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ เผยบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า แต่กลับมีคนยากจน แร้นแค้นเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (3 ก.ย.) ที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเสี่ยงตึ๊ง) ถ.โยธา เขตเทศบาลนครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานประเพณีทิ้งทาน (ซิโกว) ประจำปี 2558 โดยมีนายสุเทพ นัฐกานต์กนก เหรัญญิกมูลนิธิหลักเสียงเสี่ยงตึ๊ง ให้การต้อนรับ มีประชาชนผู้ยากไร้ คนชรา เด็ก คนพิการ และผู้ถูกทอดทิ้งในชุมชนต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมารับแจกสิ่งของในงานทิ้งทานครั้งนี้มากกว่า 10,000 คนบางคนจูงลูกจูงหลาน จูงยายตามารับของบริจาค ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องจัดระเบียบการเข้ารับแจกสิ่งของเพื่อป้องกันการแย่งของและไม่ให้เกิดความวุ่นวาย รวมถึงเพื่อให้ทุกคนได้รับแจกสิ่งของกลับไปอย่างทั่วถึง
นายสุเทพ นัฐกานต์กนก เหรัญญิกมูลนิธิหลักเสียงเสี่ยงตึ๊ง เปิดเผยว่า งานประเพณีทิ้งทาน (ซิโกว) คือ การทำบุญอุทิศให้ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ ซึ่งปีนี้มีผู้ยากไร้เดินทางมารับแจกสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งมากกว่าทุกปี ทางมูลนิธิฯ ได้จัดเตรียมสิ่งของไว้ จำนวน 10,000 ถุง และเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง โดยได้รับบริจาคจากห้างร้าน พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่มีจิตศรัทธาร่วมกันทำบุญ โดยในปีนี้ประชาชนมารอรับแจกทานมีจำนวนเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าแม้สังคมเจริญก้าวหน้าขึ้นมากแต่กลับมีคนยากจน ยากไร้เพิ่มสูงขึ้นตามมาเช่นกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสเข้าถึงการบริการต่างๆ ของรัฐ และต้องทนอยู่อย่างแร้นแค้น
ในปีนี้ ทางมูลนิธิฯ ได้นิมนต์พระสงฆ์จีน มาประกอบพิธี เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร วิญญาณไร้ญาติให้มารับส่วนบุญทำบุญให้กับอดีตผู้ก่อตั้งมูลนิธิ และอดีตประธานมูลนิธิที่ล่วงลับไปด้วย
สำหรับพิธีพิธีทิ้งทาน หรือซิโกว นั้น มีตำนานที่เล่าขานว่า ในโบราณกาลว่าพระอานนท์รู้แจ้งเห็นจริงว่า อีก 7 วันจะถึงแก่มรณภาพ จึงได้นำความกราบทูลถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นพระองค์จึงได้โปรดเทศน์พระอานนท์ว่า ให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว จะก่อเกิดอานิสงส์มีอายุยืนยาว จึงกลายมาเป็นประเพณีของพี่น้องชาวจีนที่เชื่อ และเลื่อมใสศรัทธาในการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน