5 เขื่อนใหญ่โคราชยังวิกฤติน้ำน้อย เหลือใช้ได้แค่ร้อยละ 18 เท่านั้น ลำตะคองเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชาวโคราช 5 อำเภอน้ำน้อยเหลือใช้งานได้แค่ 46.3 ล้าน ลบ.ม.ชี้ ฝนไม่ช่วยเติมน้ำในเขื่อนเหตุตกน้อย ขณะที่เทศบาลนครฯ เคว้งสัญญาส่งน้ำ JMC ลำแชะสิ้นสุด พ.ค.ที่ผ่านมา รอประชุมชี้ชะตา ด้าน ผอ.ชลประทานที่ 8 มั่นใจแม้น้ำมีน้อยเชื่อจะอยู่รอดไปถึง ต.ค.นี้แน่ก่อนมีฝนตกมาเพิ่ม เร่งสานแผนพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกรหลังนายกรัฐมนตรีไฟเขียว
วันนี้ (2 มิ.ย.) นายเทิดพงษ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดจนถึงขณะนี้เขื่อนใหญ่ 5 เขื่อน ปริมาณน้ำกักเก็บเหลือน้อยมาก โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้เฉลี่ยอยู่ที่ 170.67ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 18.22 ของความจุรวม 938 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวม 46.3 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15.90 % ของความจุกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันกว่า 40 ล้าน ลบ.ม.(87.5 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 27.83) โดยมีน้ำไหลเข้าอ่างสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ค.รวม 7.4 ล้าน ลบ.ม. แต่ทางเขื่อนระบายน้ำออกวันละประมาณ 3.45 แสน ล้าน ลบ.ม. รวมระบายน้ำสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน รวม 58.13 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญในการผลิตประปากว่า 100 แห่ง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 5 อำเภอรวมถึงตัวเมืองนครราชสีมาด้วย
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัยปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12.71 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 155 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางมาเยี่ยมชมระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นอ่างเดียวที่ปล่อยน้ำเพื่อการทำนาปรัง อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 43.1 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16.10 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบอีกแห่งของการประปาเทศบาลนครนครราชสีมาที่นำน้ำเมาใช้ตามคำสั่งของศาลปกครองล่าสุดปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก ซึ่งสิ้นสุดข้อตกลงให้ใช้น้ำวันละ 35,000 คิว ตามมติที่ประชุมของ JMC ลำแชะในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาแต่เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังน้ำ คณะกรรมการจะหารือกันอีกครั้งในการส่งน้ำให้แก่เทศบาลนครนครราชสีมา
อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำใช้การได้ 26.74 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19.96 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ที่ 34.70 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39.21 % จากความจุกักเก็บทั้งหมด 98 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดปานกลางจำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำคงเหลือ 52.38 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24.19 จากความจุรวม 231ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย และ อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ รวมถึงอ่างบึงกระโตน อ.ประทาย แห้งขอดไม่สามารถวัดระดับน้ำได้
ด้านนายชิตชนก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแต่ปริมาณน้ำฝนยังตกน้อยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ประกอบกับที่ผ่านมาประสบกับภาวะความแห้งแรงอย่างรุนแรงเมื่อมีฝนตกลงมาช่วงนี้มักจะถูกดูดหายไปกับดินจึงไม่ทำให้น้ำไหลลงอ่าง แต่โดยธรรมชาติของจังหวัดนครราชสีมาฝนมักจะตกหนักช่วงปลายฤดูคือ เดือน ก.ย.- ต.ค. ซึงปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำฯ ขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้แม้จะมีน้อยและมั่นใจว่า น้ำสำรอง (น้ำก้นอ่าง) จะสามารถใช้ได้ถึงเดือน ต.ค.นี้แน่นอน โดยยังเน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และขอความร่วมมือให้ประชาชนประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยกันผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำลำเชียงไกร ตามที่ นายกฯ ได้อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อครั้งเดินทางมาตรวจราชการที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมารวมงบประมาณ 1,500 ล้านบาทนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ ประชุมและทำความเข้าใจกับชาวบ้านเนื่องจากมีแผนดำเนินการอยู่แล้ว โดยหากรัฐบาลอนุมัติงบประมาณก้อนแรกในช่วงนี้ จะเริ่มดำเนินการในการสร้างอาคารบังคับน้ำที่อยู่ด้านล่างอ่างลำเชียงไกรตอนล่างก่อน เพื่อให้ทันฤดูฝนนี้