เกษตรกรโคราช พลิกตำราสู้วิกฤติแล้ง ผันน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียทำนากว่า 4,000 ไร่ ได้ผลผลิตเยี่ยม ล่าสุดศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวฯ โคราช ลงพื้นที่ส่งเสริมทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อช่วยเกษตรกรประหยัดน้ำในช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรปลี้มลดต้นทุนแถมได้ผลผลิตสูง
วันนี้ (1 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่ ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา พลิกตำราสู้วิกฤตภัยแล้งที่กำลังโหมกระหน่ำซ้ำเติมอย่างหนักในปีนี้ ประกอบกับทางจังหวัดประกาศให้งดทำนาปรังโดยสิ้นเชิงในทุกลุ่มน้ำ โดยเฉพาะลำตะคอง และห้ามนำน้ำจากลำตะคองที่ไหลผ่านตัวเมืองนครราชสีมามาใช้เพื่อการเกษตรโดยเด็ดขาด ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรในเขต อ.เมืองนครราชสีมา ที่มีกว่า 4.5 แสนไร่ ล้วนได้รับผลกระทบและเกษตรกรต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
แต่สำหรับเกษตรกรชาวนา อย่าง นายชม แก้วบุญพะเนา วัย 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29 ม.9 บ้านท่ากระสัง ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา และเพื่อนชาวนา ต.หัวทะเล รวมทั้งตำบลใกล้เคียงอีก 3 ตำบล กว่า 300 ราย ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสนำน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วและระบายลงลำตะคอง พื้นที่ ต.หัวทะเล มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรโดยเฉพาะทำนาปรัง รวมกว่า 4,000 ไร่ ได้ผลเกินคาดหมาย ชนิดที่หลายคนไม่เคยคาดคิดมาก่อน
นายชมเล่าว่า ปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ในพื้นที่ ต.หัวทะเล เป็นพื้นที่แหล่งรับน้ำเสียจากตัวเมืองนครราชสีมามาบำบัดในบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ของเทศบาลนครนครราชสีมา และน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วถูกปล่อยลงมาตามลำตะคอง ช่วงประตูระบายน้ำข่อยงามหรือเขื่อนข่อยงาม ทำให้พื้นที่ ต.หัวทะเลมีน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียไหลลงลำคลองอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำดังกล่าวนำมาใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ แต่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรได้เป็นอย่างดี
พวกเราเกษตรกรจึงผันน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ปลูกข้าวนาปรัง โดยตนทำนาปรังบนพื้นที่กว่า 30 ไร่ พบว่านาข้าวที่ใช้น้ำเสียจากบ่อบำบัดต้นข้าวเขียวขจี งามกว่านาข้าวที่อื่นๆ มาก ได้ผลผลิตข้าวสูงถึง 1 ตันต่อไร่ และนอกจากนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกข้าวแล้วยังสามารถนำไปรดพืชสวนและต้นไม้ต่างๆ ได้อีก ซึ่งพวกเราได้นำมาใช้ทำการเกษตรติดต่อกันมาหลายปีแล้ว
“ฉะนั้นถึงแม้ประสบภัยแล้งอย่างหนัก แต่พวกเราไม่ขาดน้ำเพื่อการเกษตรเหมือนพื้นที่อื่นๆ เพียงแต่ว่าเกษตรกรต้องรู้จักนำมาใช้ประโยชน์เท่านั้น” นายชมกล่าว
เช่นเดียวกับ นายประเสริฐ แสนสุข อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 70 ม.8 บ้านข่อยงาม ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา บอกว่า ได้ทำนาปรังกว่า 25 ไร่ โดยใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดและปล่อยลงมาตามลำตะคอง ซึ่งทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามสมบูรณ์ เพราะสารอาหารของพืชในน้ำจากบ่อบำบัดมีจำนวนมาก และที่สำคัญคือไม่มีปัญหาขาดน้ำทำนา แม้ประสบปัญหาภัยแล้งและพื้นที่ไม่ใช่นาลุ่มแต่ก็สามารถปลูกข้าวได้ โดยใช้น้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียเป็นหลัก
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาได้เข้ามาส่งเสริมเทคนิคการปลูกข้าวนาปรังใช้น้ำน้อยแบบเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำให้แก่กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านท่ากระสัง ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่ใช้น้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียทำนาปรัง ซึ่งมีสมาชิกกว่า 10 คน รวม 280 ไร่ โดยตนและนายชมเป็นสมาชิกในกลุ่มดังกล่าวนี้ด้วย จึงได้นำเอาเทคนิคดังกล่าวมาใช้ โดยส่วนใหญ่การทำนาแบบเปียกสลับแห้งนิยมกันมากในภาคกลาง จึงนำมาทดลองทำเป็นครั้งแรกในปีนี้
วิธีทำนาปรังใช้น้ำน้อยแบบเปียกสลับแห้งนั้นไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์มีเพียง ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 25 ซม. เจาะรูห่างกันประมาณ 5 เซนติเมตร (ซม.) จากนั้นนำไปฝังดินในนาข้าวเป็นจุดๆ เพื่อวัดระดับน้ำ ให้ท่อโผล่พ้นดินประมาณ 5 ซม. เพื่อวัดระดับน้ำในนาข้าว จากนั้นก็ปล่อยน้ำเข้านาตามระดับที่เจ้าหน้าที่แนะนำ
ขณะนี้ต้นข้าวในนาปรังของตนมีอายุประมาณ 30 วัน พบความแตกต่างคือ วัชพืชน้อยลง สูบน้ำเข้านาน้อยลงประหยัดค่าน้ำมันจากเดิมที่ช่วงนี้ต้องสูบน้ำถึง 3 ครั้ง แต่เมื่อนำเทคนิคนี้มาใช้สูบน้ำแค่ครั้งเดียว และปุ๋ยไม่ต้องใส่ เพราะต้นข้าวแตกกอ เขียวขจีและต้นแข็งแรง ที่สำคัญดินไม่แฉะสามารถลงเดินในนาข้าวได้ ซึ่งต้องรอดูผลผลิตว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด จากเดิมเคยทำได้ประมาณ 500 กก.-1 ตัน/ไร่ คาดว่าปีนี้ได้ไม่น้อยกว่า 1.2 ตันต่อไร่แน่นอน
ด้าน นายสนิท ดวงสุนทร เกษตรอำเภอเมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า อ.เมืองนครราชสีมามีทั้งหมด 25 ตำบล มีพื้นที่เกษตรกว่า 5.5 แสนไร่ แบ่งเป็นนาข้าวกว่า 4 แสนไร่ โดยใช้น้ำจากลำตะคองเป็นหลัก ปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง และทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคองขอความร่วมมือให้งดใช้น้ำเพื่อการเกษตร เช่นเดียวกับทางจังหวัดนครราชสีมาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้สั่งการให้เกษตรอำเภอตรวจคุมเข้ม ห้ามเกษตรกรนำน้ำจากลำน้ำลำตะคองไปใช้ทำนาปรังอย่างเด็ดขาด เพื่อกันไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หากพบว่ามีการลักลอบเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต้องรับผิดชอบด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรบางส่วนในเขต อ.เมืองนครราชสีมา ที่ปีนี้ยังคงทำนาปรังกันอยู่รวมกว่า 7,000 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ ต.หัวทะเล และตำบลใกล้เคียง 3 ตำบล มีกว่า 4,000 ไร่ ซึ่งโชคดีที่ได้น้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครนครราชสีมามาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรังและสามารถทำการเกษตรอื่นๆ ได้ด้วย