พายุฤดูร้อนถล่มโคราช 11 อำเภอ 50 หมู่บ้าน บ้านพัง 176 หลังยุ้งข้าว 5 หลัง คอกสัตว์ 9 หลัง พืชไร่ 55 ไร่ 5 งาน เสาวไฟฟ้า 15 ต้น รถยนต์ 2 คัน รถจยย. 3 คัน โชคดีไม่มีตายเจ็บ
วันนี้ (17 มี.ค.) นายสุเทพ รื่นถวิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา สรุปพื้นที่ประสบวาตภัยหลังเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ผ่านมา มีพายุฤดูร้อน เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายบริเวณกว้างในพื้นที่ 3 อำเภอ 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายรวม 53 หลัง คอกสัตว์ 1 หลัง ดังนี้
1.อำเภอเทพารักษ์ จำนวน 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ ม.3, 5 ต.บึงปรือ บ้านเรือนได้รับความเสียหาย จำนวน 9 หลัง 9 ครัวเรือน
2.อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ได้แก่ ม. 6 ต.ช้างทอง บ้านเรือนได้รับความเสียหาย จำนวน 4 หลัง และคอกสัตว์ 1 หลัง 5 ครัวเรือน
3.อำเภอหนองบุญมาก จำนวน 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ ม. 4, 7 ต.ลุงเขว้า บ้านเรือนได้รับความเสียหาย จำนวน 40 หลัง
ขณะนี้ทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เร่งให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายโดยด่วนแล้ว
นายสุเทพ กล่าวว่า สรุปรวมพื้นที่เกิด วาตภัย ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.60 ถึง 16 มี.ค.60 รวมทั้งสิ้น จำนวน 11 อำเภอ 19 ตำบล 50 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 176 หลัง ยุ้งข้าว 5 หลัง คอกสัตว์ 9 หลัง พืชไร่ 55 ไร่ 5 งาน เสาไฟฟ้า 15 ต้น รถยนต์ 2 คัน และรถจักรยานยนต์ 3 คัน การเกิดวาตภัยดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามฝากเตือนให้ประชาชนระมัดระวังพายุฤดูร้อนในช่วงนี้ด้วย ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ระวัง“พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน” ฉบับที่ 17 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะ ของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกได้หลายพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบ ตามภาคต่างๆ โดยเฉพาะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ เลย อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ดสกลนครนครพนม นครราชสีมาบุรีรัมย์ หนองบัวลำภู และ บึงกาฬ
ส่วนช่วงวันที่ 19-20 มีนาคม พายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง มีแนวโน้มลดลง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังคงมีต่อเนื่อง ในระยะนี้ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ในช่วงวัน และเวลาดังกล่าวไว้ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางยังคงแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - ตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 17-19 มีนาคม จะมีคลื่นกระแสลม ฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น