โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลักร้อยโคราชเจ๋ง! จับมือ เอไอเอส ยักษ์มือถือ เปิดตัว แอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” แห่งแรกในประเทศไทย เผยนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือและพัฒนาสังคม ชุมชน เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน หวังเป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพด้านการติดต่อสื่อสารในการปฎิบัติหน้าที่เชิงรุกของ รพ.สต. กับ อสม.
วันนี้ (18 ก.ย.) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหลักร้อย อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุชาติ สนพะเนาว์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลักร้อย พร้อม นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ร่วมกันเปิดตัว แอปพิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” โดยมี อสม.และประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอสได้นำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมงานสาธารณสุขชุมชน ด้วยเล็งเห็นว่างานสาธารณสุขมีความสำคัญ และเป็นรากฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลต่อความเจริญ และมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสาธารณสุขชุมชน ซึ่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ถือเป็นหน่วยพยาบาลระดับต้นที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนและเป็นศูนย์กลางในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน โดยเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็งในการลงพื้นที่และใกล้ชิดสุขภาพของคนในชุมชน
ดังนั้นเอไอเอส จึงได้นำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่น สำหรับให้ รพ.สต.และ อสม.ใช้ในการสื่อสารกันเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานสาธารณสุขชุมชนเชิงรุก โดยใช้ชื่อว่า “อสม.ออนไลน์” และได้นำร่องการใช้งานที่ รพ.สต.หลักร้อย อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรก โดยเอไอเอสได้ลงพื้นที่ศึกษาถึงวิถีการทำงาน พฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงอุปสรรคและข้อจำกัดในการทำงาน ของ รพ.สต.และ อสม. ในพื้นที่จริง และนำข้อมูลที่ได้ศึกษามาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาจนทำให้ได้แอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” ออกมา สำหรับแอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ นับเป็นแอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานคือ รพ.สต.และ อสม.โดยมีจุดเด่นที่เน้นในเรื่องของการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะกับวิถีชีวิตแบบไทยๆ เป็นเมนูภาษาไทยทั้งหมด สามารถส่งข้อความได้หลากหลายรูปแบบทั้งข้อความตัวอักษร ภาพ เสียง และวิดีโอคลิป และมีการจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ข้อมูลที่ชัดเจน เช่น การรับส่งข้อมูลข่าวหรือประกาศต่างๆ จากกระทรวงสาธารณสุข การส่งรายงานหรือใบงานประจำเดือน การรายงานสถานการณ์โรคระบาดในพื้นที่ การนัดหมายและบันทึกประชุม และการแจ้งรับเงิน รวมถึงการสนทนาทั้งแบบเดี่ยว และแบบกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ รพ.สต. และอสม.สามารถเข้าถึงสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้ตลอดเวลา นายปรัธนา ลีลพนัง กล่าว
ด้านนายสุชาติ สนพะเนาว์ ผอ.รพ.สต.หลักร้อย กล่าวว่า แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ จะเข้ามาช่วยให้งานที่ทำอยู่ของ รพ.สต. และ อสม. มีศักยภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการข้อมูล การติดต่อสื่อสาร การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในพื้นที่รับผิดชอบ รวมไปถึงการลงพื้นที่ดูแลคนในชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเป้าหมาย 3 ร. “รู้เร็ว ส่งตัวเร็ว รักษาไว” เนื่องจากแอปพลิเคชั่นดังกล่าวช่วยให้ได้รับข้อมูล ข่าวสารที่ครบถ้วน รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ จึงสามารถแจ้งต่อได้ทันท่วงที ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเตรียมการรักษาได้ เช่นเดียวกับแผนรับมือหากเกิดโรคระบาด และยังช่วยให้ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติหน้าที่อีกด้วย
อย่างไรก็ดีในอดีตการทำงานระหว่างรพ.สต. กับ อสม. ในการแจ้งข้อมูล ข่าวสารจะต้องใช้เวลานาน และอาจจะไม่ได้รับข้อมูลครบทุกคน หรือหากได้รับข้อมูลก็อาจจะช้าเกินไปจนไม่สามารถเฝ้าระวัง และป้องกันได้ทันท่วงทีหากเกิดโรคระบาด เช่นเดียวกับการนัดประชุม และการส่งรายงานการประชุมซึ่ง อสม.ต้องใช้เวลานานในการส่งกลับมาให้กับ รพ.สต. ซึ่งมีกำหนดการส่งเดือนละครั้งในวันที่เข้ามาประชุม ซึ่งทำให้งานของรพ.สต.ล้นมือในแต่ละช่วง แต่หากมีเครื่องมือที่จะเข้ามาบริหารจัดการ การปฎิบัติงานของรพ.สต.และอสม.ก็จะสามารถปฎิบัติหน้าที่ในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น