รฟท. เปิดเวทีฟังเสียงชาวเมืองย่าโม สรุปโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานีรองรับการเดินทางสะดวก รวดเร็ว คาดสร้างเสร็จปี 2565 จะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 7.22 ล้านคน ลดเวลาเดินทางเหลือแค่ 3.15 ชม.
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้( 22 มี.ค. ) ที่โรงแรมซิตี้ พาร์ค อ.เมือง จ.นครราชสีมา ร.ต.นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 3 งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี โดยมีนายธงชัย อุ้ยเจริญ หัวหน้ากองจัดการที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งวิศวกรโครงการ , ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม , ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ ร่วมให้การต้อนรับและชี้แจงรายละเอียด โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถานศึกษา และประชาชนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการเข้าร่วมกว่า 200 คน
ทั้งนี้เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟรางคู่ต่อไป
สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ จากสถานีชุมชนจิระ-อุบลราชธานีมีระยะทางรวมประมาณ 307.7 กม. โดยแนวเส้นทางรถไฟจะก่อสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 34 สถานี(ไม่รวมสถานีชุมทางจิระ) และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) 4 แห่ง ได้แก่ ป้ายหยุดรถบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ สถานีบุฤาษี จ.สุรินทร์ สถานีหนองแวง จ.สรีสะเกษ และสถานีบุ่งหวาย จ.อุบลราชธานี ซึ่ง CY ทั้ง 4 แห่ง จะก่อสร้างในพื้นที่ของ รฟท.ทั้งหมด แต่จะมีการเวนคืนพื้นที่ ที่สถานีหนองแวง จากถนนทางหลวงหมายเลข 226 เข้าสู่สถานี พื่อสร้างถนนกว้าง 12 เมตรระยะทางประมาณ 650 ม.
ส่วนปัญหาจุดตัดทางรถไฟ จำนวน 131 จุด มีแนวทางแก้ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง 2.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในรูปตัวยู 3.ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ 4.ยกระดับทางรถไฟ และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของคนหรือสัตว์ในการข้ามทางรถไฟและความปลอดภัยของการเดินรถไฟ
สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่า มีความเหมาะสมในการลงทุนอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) ร้อยละ 14.25 มูลค่าลงทุนโครงการ 48,480.93 ล้านบาท โดยในปี 2565 มูลค่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ 6,122.8 ล้านบาท/ปี สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ยานพาหนะ 3,490.4 ล้านบาท/ปี ประหยัดเวลาเดินทาง 1,224.7 ล้านบาท/ปี และลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 1,407.7 ล้านบาท/ปี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 7.22 ล้านคน-เที่ยว /ปี มีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 860,200 ตัน/ปี อีกทั้งลดระยะเวลาเดินทางจาก จ.นครราชสีมา – จ.อุบลราชธานี จากเดิม 5 ชม. 30 นาที เป็น 3 ชม. 15 นาที
นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน เช่น การสร้างแนวคันป้องกันดิน เพื่อป้องกันการชะล้างดินจากการเปิดหน้าดินในการก่อสร้างลงสู่แหล่งน้ำ การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวและทำการขุด เจาะ ในช่วงเวลากลางวัน เพื่อลดผลกระทบด้านการสั่นสะเทือน เป็นต้น ซึ่งตรงตามมาตรการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนดไว้
ทั้งนี้ การพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ จ.นครราชสีมา ให้เป็นศูนย์กลางด้านขนส่งโลจิสติกส์ ที่ช่วยขนส่งถ่ายเทสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล รวมถึงสินค้าในกลุ่มซีเมนต์ อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ส่งเสริมการค้าการลงทุนของจังหวัดให้มีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่ต้องการให้จังหวัดเป็นประตูเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และกระจายสินค้าสำคัญในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ รฟท. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการ และเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป