รมว.พัฒนาสังคมฯ ลุยโคราช เร่งจัดการปัญหาค้ามนุษย์ ย้ำตร.ดำเนินการตามกฎหมายเต็มที่ ชี้อีสานล่างส่วนใหญ่มีปัญหาการค้าประเวณีของต่างด้าว โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดน มั่นใจจัดอันดับค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้น จากมาตรการเอาจริงของรัฐบาล พร้อมเดินหน้าจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ ยอมรับยากที่จะทำให้หมด
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ห้องประชุมวีวัน 3 โรงแรมวีวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานและประเมินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ให้แก่ข้าราชตำรวจในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนล่างสังกัดตำรวจภูธรภาค 3
ทั้งนี้เพื่อประเมินสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง, เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของหน่วยงานรับผิดชอบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อบูรณาการแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง และเพื่อสร้างเครือข่ายหน่วยงานรับผิดชอบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่อีสานตอนล่าง
พล.ต.อ.อุดลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มอบนโยบายและเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายจับกุมดำเนินคดีและการขยายผลเครือข่ายต่างๆ
สำหรับสถานการณ์โดยรวมในพื้นที่อีสานล่างนั้น ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ส่วนใหญ่พบปัญหาการค้าประเวณีของต่างชาติ พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงจะอยู่จังหวัดแถบแนวชายแดนเป็นหลัก เพราะมีการเข้าออกได้ง่ายขึ้น
ส่วนการจัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่เทียร์ 3 ในปีที่แล้ว นั้นในปีนี้รัฐบาลได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมเครือข่ายใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก มีการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มช่องทางในการฟ้องร้อง โดยเฉพาะเรื่องการคัดกรองการคุ้มครองพยาน ได้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น โครงสร้างการบริหารเรามีความเข้มข้นมากขึ้น และมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนมีการบูรณาการร่วมกันเป็นอย่างดี เชื่อว่าอันดับน่าจะดีขึ้น
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ในการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศนั้น ได้เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 มีการพิสูจน์ทราบไปกว่า 2,700 ราย เป็นต่างด้าวประมาณ 800 ราย ซึ่งผลักดันกลับประเทศไทย ส่วนที่เป็นคนไทยได้มีการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กลุ่มนี้ ยอมรับว่าปัญหาลักษณะนี้จะขจัดให้หมดไปคงยากเพราะเป็นปัญหาสังคมและเป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะหมดไป