กลุ่มจังหวัดอีสานล่าง ระดมแผนรับมือแล้งรุนแรง ฝึกภาคปฏิบัติให้จนท. เพื่อเตรียมพร้อมแก้ปัญหาแย่งน้ำ ขณะที่ 2 จังหวัด เข้าขั้นวิกฤติประกาศพิบัติแล้งแล้ว 12 อ. 69 ต. 681 มบ. ปชช. เดือดร้อนเกือบ 5 หมื่นครอบครัว พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 4 แสนไร่ โคราชขาดน้ำกินน้ำใช้ 3 อำเภอ
วันนี้ (25ก.พ.) ที่ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการฝึกและป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัยแล้งและภัยจากพายุฤดูร้อน ระดับกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ 2559 โดยมีตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในพื้นที่ 4 จังหวัด “นครชัยบุรินทร์” ประกอบด้วย นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐเอกชน และหน่วยกู้ภัย เข้าร่วมประชุมและฝึกปฏิบัติด้วยการจำลองสถานการณ์จริงอย่างพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและภัยแล้ง ภัยจากพายุฤดูร้อน และเพื่อทดสอบในการเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากร ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา ในการสนับสนุนการจัดการสาธารณภัยของจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ รวมถึงเสริมสร้างทักษะ ความชำนาญ ประสบการณ์และพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติการต่อภาวะฉุกเฉินภายใต้สถานการณ์สมมุติ และเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสาร การประสานงานเข้าร่วมปฏิบัติ การรับมอบภารกิจจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด
นางปิยะฉัตร อินสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา (ปภ.เขต 5 นม.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งล่าสุดจนถึงขณะนี้มีการประกาศพื้นที่ประสบพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้งแล้ว 2 จังหวัด คือ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ รวม 12 อำเภอ 69 ตำบล 681 หมู่บ้าน ราษฏรได้รับผลกระทบ 47,766 ครอบครัว มีพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้ว 404,706.5 ไร่ แบ่งเป็น นาข้าว 385,491.5 ไร่ และพืชไร่ 19,215 ไร่
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ประกาศพื้นที่ฯ รวม 10 อำเภอ 62 ตำบล 658 หมู่บ้าน 46,578 ครอบครัว แบ่งเป็นพื้นที่เสียหายด้านเกษตร 8 อำเภอ คือ ขามสะแกแสง คง บัวลาย แก้งสนามนางด่านขุนทด โนนสูง เทพารักษ์ พื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 3 อำเภอ คือ ด่านขุนทด พระทองคำ และบัวใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่ามีน้อยกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย
ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ มีการประกาศพื้นที่ฯ รวม 2 อำเภอ 6 ตำบล 23 หมู่บ้าน 1,188 ครอบครัว พื้นที่เสียหายด้านการเกษตร 7,861.5 ไร่ แบ่งเป็น อ.พลับพลาชัย 4 ตำบล 17 หมู่บ้าน 916 ครอบครัว นาข้าวเสียหาย 6,164.5 ไร่ และ อ.เมือง 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน 272 ครอบครัว นายข้าวเสียหาย 1,697 ไร่
นางปิยะฉัตร กล่าวอีกว่า ขณะนี้หน่วยงานในพื้นที่ระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลือ ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติฯ ในทุกพื้นที่แล้ว ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมการฝึก ได้ตระหนักและทราบถึงบทบาทภารกิจของหน่วยงานตนเองในการเตรียมความพร้อมการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ตลาดจนประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การสั่งการฯลฯ หากเกิดการแย่งชิงน้ำ หรือลักลอบสูน้ำ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างทั่วถึง