การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 11 แห่งทั่วประเทศ โคราชนำร่องแห่งแรกของอีสาน มี 2 สถานียึดเส้นมิตรภาพ เผยให้เติมฟรีถึงสิ้นปี วางแผนพัฒนาโครงข่ายแบบออนไลน์เชื่อมทุกสถานี สามารถเช็คที่ตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าผ่าน App มือถือ
วันนี้( 20 ก.ค. ) เวลา 09.30 น. ที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมานายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ประธานกรรมการบริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เป็นประธานในพิธีเปิดโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านครราชสีมา ตามนโยบายของภาครัฐ Thailand 4.0 และ e-Government ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ก้าวสู่ยุค PEA 4.0 พัฒนาคนด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การไฟฟ้าแห่งอนาคต โดยมีนายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้แทนกองทัพภาคที่ 2 และกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ พลังงานจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าร่วมงานกว่า 100 คน
ทั้งนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ศึกษาวิจัยและจัดทำระบบโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 11 สถานี ในเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประกอบด้วย สายภาคเหนือ(กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา) จำนวน 2 สถานี , สายภาคใต้ (กรุงเทพฯ-หัวหิน) จำนวน 3 สถานี , สายภาคตะวันออก (กรุงเทพฯ-พัทยา) จำนวน 2 สถานี , สายภาคตะวันตก (กรุงเทพฯ-นครปฐม) จำนวน 1 สถานี , สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จำนวน 2 สถานีได้แก่สถานีไฟฟ้านครราชสีมา และสถานีไฟฟ้าอำเภอปากช่อง และสำนักงานใหญ่ จำนวน 1 สถานี
นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ประธานกรรมการบริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เปิดโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอย่างเป็นทางการไปแล้วที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 เครื่องอัดประจุไฟฟ้าเป็นแบบ Multi-Standaed (CHAdeMO,CCS Combo2, AC Type2) ตามมาตรฐานนานาชาติ รองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานยุโรปและญี่ปุ่น การอัดประจุไฟฟ้า( Quick Charge) ใช้เวลาประมาณ 20 นาที สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเปิดให้ใช้งานเวลา 06.00-20.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึงสิ้นปี 2560 และมีแผนจัดระบบโครงข่ายแบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงทุกสถานีบริการ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่าน Application บน Smartphone ทำให้ทราบตำแหน่งของสถานีที่ว่างและอยู่ใกล้ที่สุด สัมพันธ์กับพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในรถ สามารถจองคิวสถานีอัดประจุไฟฟ้าล่วงหน้า ทราบสถานการณ์ใช้พลังงาน รูปแบบการอัดประจุไฟฟ้า การชำระเงินค่าบริการและการแจ้งเตือนปัญหาการใช้งาน เป็นการพัฒนากระบวนการทำงานที่รองรับยุคดิจิทัล ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม