ในจังหวัดสกลนครได้มีคนเลื่องลือความสามารถ ความขยันหมั่นเพียรของหนุ่มใหญ่รายหนึ่ง ที่นอกเหนือจากการเปิดร้านรับตัดผมเป็นอาชีพหลักแล้ว เขายังหารายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวด้วยการประดิษฐ์งานฝีมือจากกะลามะพร้าว ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้พบเห็น และสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยในแต่ละเดือน
หนุ่มใหญ่รายดังกล่าวคือ คุณวัลลภ ทองเหลา อายุ 45 ปี ชาวบ้านหนองลาด หมู่ที่ 6 ตำบลหนองลาด อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ช่างตัดผมผันชีวิตสร้างงานศิลปะจากกะลามะพร้าวสร้างรายได้เสริม ในยามว่างเว้นทำนาก็จะเปิดร้านตัดผมชาย บริการแก่ผู้คนในหมู่บ้านและใกล้เคียง มีรายได้ 100-200 บาท ต่อวัน
คุณวัลลภ เล่าว่า เริ่มแรกที่นำกะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งใช้งานได้จริงและใช้ตกแต่งนั้น เพราะหวนนึกคิดถึงพ่อเมื่อครั้งยังเด็ก เห็นพ่อนำกะลามะพร้าวมาผลิตทำเป็นขันน้ำ จึงคิดว่าน่าจะประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นของโชว์ของเล่นได้
ผลงานจากกะลามะพร้าวชิ้นแรก ผลิตทำเป็นขันน้ำ มีด้ามจับ จัดวางขายงานสินค้าคลองถมในพื้นที่และใกล้เคียง ปรากฏว่าขายจนหมดเกลี้ยง
นั่นคือ จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจให้เขาคิดค้นผลิตผลงานชิ้นอื่นๆ ที่ทำจากกะลามะพร้าว พร้อมกับได้พัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผลงานออกมาได้หลายรูปแบบดีขึ้นตามลำดับ ชิ้นงานที่ผลิต เช่น ผลิตกระปุกออมสินรูปกวาง ช้าง ม้า กระต่าย กระรอก ยีราฟ และอื่นๆ รวมถึงหิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา และป้ายไม้
ส่วนงานชิ้นสำคัญที่ผู้คนต้องสั่งจองล่วงหน้า คือการผลิตผลิตภัณฑ์เรือสำเภา และผลิตภัณฑ์ราชรถ ซึ่งเป็นงานที่ละเอียด เจ้าตัวถึงกับออกปากว่ายาก และต้องใช้เวลาเกือบอาทิตย์ ถึงจะแล้วเสร็จ
“นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ยังมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากในงานประดิษฐ์ ตกแต่งกะลามะพร้าว เพราะจะได้รับเชิญให้นำผลิตภัณฑ์ไปงานโชว์วันสำคัญๆ ที่ทางอำเภอหรือจังหวัดจัดขึ้น”
คุณวัลลภ กล่าวและเล่าต่อว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ตนได้ลาออกจากงานที่ทำงานอยู่อู่ต่อเรือ ที่จังหวัดชลบุรี ก่อนกลับมาอยู่บ้าน เปิดร้านตัดผมประมาณ 2 ปี ต่อมาจึงคิดดัดแปลงกะลามะพร้าวนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน เช่น การผลิตเป็นกระปุกออมสินมีรูปร่างคล้ายช้าง กวาง กระรอก กระต่าย ยีราฟ และอื่นๆ เหมาะสำหรับเด็กๆ เพื่อเก็บออมเงิน
ในการผลิตชิ้นงานแต่ละชิ้นต้องเข้ารูปลักษณ์กะลามะพร้าว เช่น ลูกมะพร้าวบิดเบี้ยวทำเป็นลูกแอปเปิ้ล หรือลูกมะเขือตามแนวคิดที่คิดได้และเสมือนจริง สำหรับชิ้นส่วนประกอบการประดิษฐ์ตกแต่งล้วนใช้วัสดุจากธรรมชาติทั้งหมด ราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่ 39-500 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและขนาดของชิ้นงาน
ส่วนงานที่ผลิตยากและต้องใช้เวลาคือ การผลิตประกอบเรือสำเภา และราชรถ คืออย่างน้อย 3-4 วัน ถึงจะแล้วเสร็จ แต่ต้องมีผู้สั่งให้ผลิตถึงจะผลิตให้ได้ ส่วนราคาก็เริ่มต้นตั้งแต่ 1,000-1,500 บาท ความพอใจของผู้ซื้อไปนั้น
นับตั้งแต่ผลิตขายออกไปยังไม่พบว่ามีลูกค้าตำหนิหรือไม่พอใจแต่ประการใดได้รับคำชมเชยมาโดยตลอดว่าทำได้ดีคงทนละเอียดและสวยงาม ซึ่งนอกจากมีการผลิตเป็นรูปสัตว์ต่างๆ จากกะลามะพร้าว และผลิตเรือใบ ราชรถแล้ว ยังผลิตหิ้งพระ และโต๊ะหมู่บูชา รวมถึงป้ายไม้อีกด้วย ราคาหลักร้อยถึงหลักพัน (แล้วแต่ขนาดเล็ก-ใหญ่)
ด้านการตลาด ตนและภรรยาจะนำไปวางขายงานสินค้าคลองถมในพื้นที่และใกล้เคียง มีรายได้ทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละ 2,000-3,000 บาท ส่วนวัสดุและราคาที่รับซื้อและไปหาซื้อเอง ส่วนใหญ่จะไปขอจากแม่ค้าที่ตลาดสด และไปหาซื้อมะพร้าวแก่ (ห้าว) เป็นทะลาย คิดราคาเฉลี่ย ลูกละ 1-3 บาท หลังจากผลิต ประกอบแล้วเสร็จพร้อมขาย ลงทุนรวมราคาชิ้นละ 10-20 บาท ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดชิ้นเล็ก-ใหญ่ หากขนาดใหญ่ราคาก็สูงขึ้นตามลำดับ ไปจนถึงชิ้นละ 500 บาท ส่วนชิ้นงานอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
คุณวัลลภ ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้ไม่รู้ว่าเป็นงานเสริมหรืองานหลัก ปกติทำงานช่างตัดผมเป็นหลัก แต่ตอนนี้ให้เวลากับการผลิตประดิษฐ์กะลามะพร้าวเสียส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็เพิ่งเริ่มทำเป็นปีที่ 2 ยังขาดปัจจัยหลายอย่าง เช่น เงินทุนส่งเสริม และอาคารสถานที่ ซึ่งต่อไปตนคิดว่าอาชีพนี้น่าจะไปได้ดี หากมีการส่งเสริมจริงจังและรวมกลุ่มเป็นอาชีพเสริม สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
ด้าน คุณฑิคำพร อ้วนอินทร์ พัฒนาชุมชนตำบลหนองลาด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่นี่นอกจากผลิตกะลามะพร้าวแล้วยังมีผ้าย้อมครามของกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งเทศบาลตำบลหนองลาดก็ให้การสนับสนุนอยู่บ้าง แต่มีไม่เพียงพอ ส่วนผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าวนี้ก็ได้นำออกไปแสดงโชว์และจำหน่ายทั้งในและนอกพื้นที่โดยตลอด เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางมากขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจงานด้านนี้ เจ้าตัวไม่หวงไอเดีย พร้อมให้ความรู้แก่ทุกคน หรือจะไปศึกษาดูงานได้ที่บ้านคุณวัลลภ ทองเหลา บ้านหนองลาด หมู่ที่ 6 ตำบลหนองลาด อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โทร. (086) 230-7279 (โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์)
สุพจน์ สอนสมนึก(เรื่อง-ภาพ)