“รมว.พลังงาน”นำคณะลงพื้นที่โคราช บุกเยี่ยมชมศูนย์ผลิตพลังงานจากกากของเสียและขยะแบบครบวงจร ของ มทส. ร่วม 4 อปท. 600 ล้าน เผยรองรับขยะได้100 ตัน/วัน ตลอดโครงการสามารถกำจัดขยะได้ถึง 1.1 ล้านตัน สุดทึ่งผลิตน้ำมันจากขยะได้ 2 หมื่นลิตร/วัน ผลิตไฟฟ้าขนาด1 เมกกะวัตต์ และแปรรูปเป็น “เชื้อเพลิงขยะ RDF” ใช้แทนถ่านหินผลิตพลังงานความร้อนในกระบวนการอุตฯได้ถึง 155 ktoe คิดเป็นมูลค่ากว่า 780 ล้าน
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่โรงกำจัดขยะแบบครบวงจร ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะได้เดินทางมาเยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้าง “ศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานจากการกากของเสียและขยะชุมชนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร.สิทธิชัย แสงอาทิตย์ รองอธิการบดี รักษาการอธิการบดี มทส. และ ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี มทส. ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวรายงานสรุป
ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี มทส. กล่าวว่า มทส. ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะเพื่อแปรรูปเป็นพลังงานแบบครบวงจร มาตั้งแต่ปี 2549 โดยผ่านกระบวนการวิจัยมาเป็นลำดับ และได้รับการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2558 โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สนับสนุนจัดตั้ง “ ศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานจากการกากของเสียและขยะชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี” มูลค่ารวมกว่า 600 ล้านบาท
ทั้งนี้เพื่อเป็นต้นแบบระบบผลิตพลังงานจากขยะแบบครบวงจร รองรับการจัดการขยะ 100 ตัน/ วัน ที่ จ.นครราชสีมา ในลักษณะการกระจายศูนย์ผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ซึ่งมีศูนย์รองรับขยะมูลฝอย 25 ตัน/วัน จำนวน 4 แห่ง ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ใกล้เคียง ประกอบด้วย เทศบาลเมืองปักธงชัย, เทศบาลเมืองสีคิ้ว,เทศบาลตำบลพิมาย , เทศบาลตำบลด่านขุนทด และ นำเชื้อเพลิงขยะ( RDF) มารวมศูนย์เพื่อผลิตพลังงานในรูปแบบไฟฟ้าขนาด 1 เมกกะวัตต์ และ น้ำมันสำเร็จรูปขนาด 20,000 ลิตร/วัน ซึ่งตลอดอายุโครงการจะสามารถกำจัดขยะได้ถึง 1.1 ล้านตัน และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ ( RDF) นำไปใช้แทนถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานความร้อนในกระบวนการอุตสาหกรรมได้ถึง 155 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) คิดเป็นมูลค่า 780 ล้านบาท
ผศ.ดร.วีรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ยังได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาออกแบบ ระบบการจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ (SUT-MBT) ให้เหมาะสมกับพื้นที่จริงของ อปท. อีก 21 แห่ง ที่ผ่านการพิจารณาจัดสรรงบประมาณปี 2559 ภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ดังนั้นปัจจุบัน มทส. มีผลงานในการออกแบบระบบ SUT –MBT ให้กับ อปท.และหน่วยงานต่างๆ จำนวน 35 แห่ง ทั่วประเทศ คิดเป็นขนาดรองรับขยะมูลฝอยจำนวน 1,880 ตัน/วัน
ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพลังงาน ดังกล่าว ทำให้ มทส.สามารถรองรับการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย และ อปท.ในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองและได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย
อีกทั้งเป็นที่ยอมรับจากภาคอุตสาหกรรม จนสามารถผลิตจำหน่ายและพัฒนาเป็นข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงขยะ (RDF) ที่ผลิตด้วยระบบการจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-MBT) อย่างยั่งยืน” ระหว่าง มทส. กับ บริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด จ.สระบุรี ซึ่งเป็นโรงปูนซีเมนต์ ในเครือ SCG นำเชื้อเพลิงขยะ ( RDF) ไปใช้แทนถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานความร้อนในกระบวนการอุตสาหกรรม ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายเชื้อเพลิงขยะ( RDF) ให้กับโรงปูนซีเมนต์ ราคา 1,000 บาท/ ตัน อีกด้วย
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จ.นครราชสีมามีปริมาณขยะมูลฝอยสะสมสูงถึง 760,825 ตัน และยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นวิกฤติปัญหารุนแรงของจังหวัดนครราชสีมา ขณะที่ระบบการจัดการขยะของเทศบาลนครนครราชสีมาไม่สามารถดำเนินการจัดการขยะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในปี 2557 นครราชสีมาจึงผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจาก มทส.ให้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร แบบกระจายศูนย์เพื่อสร้างต้นแบบนำร่องในจ.นครราชสีมา 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองปักธงชัย, เทศบาลเมืองสีคิ้ว,เทศบาลตำบลพิมาย , เทศบาลตำบลด่านขุนทด เพื่อสร้างต้นแบบนำร่อง ใน จ.นครราชสีมา ครบวงจรตั้งแต่ ต้นทาง ถึงปลายทาง โดยการนำเข้าสู่ระบบจัดการขยะด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ (SUM-MBT) โดยแปรรูปขยะเป็นวัสดุปรับปรุงดิน และ เชื้อเพลิงขยะ (RDF) ซึ่ง เชื้อเพลิงขยะ (RDF) ที่ได้นั้นจะส่งไปยัง มทส.เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และน้ำมัน
โดยมีการวางเป้าหมายในการจัดการขยะอย่างมียุทธศาสตร์ เน้นให้เกิดต้นแบบของการบูรณาการการจัดการขยะแบบครบวงจรและการใช้ประโยชน์จากขยะแบบบูรณาการในรูปแบบพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาโรงงานต้นแบบและการบริหารจัดการเพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมต่อไป