หอดูดาวโคราช ชวนส่อง “สริยุปราคา” 9 มี.ค.นี้ เผยโคราชเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งสูงสุด 38% ย้ำไม่ควรพลาด ร เพราะต้องรออีกทีสามปีข้างหน้า แนะห้ามมองด้วยตาเปล่าหรือผ่านโทรศัพท์มือถือเด็ดขาด ต้องใช้อุปกรณ์ในการชมเท่านั้น หรือชมการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ เผยหอดูดาวโคราชจัดอุปกรณ์ทั้งกล้องและแว่นตา รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ ปชช.ชมฟรี
วันนี้ (6 มี.ค.) นายบุญญฤทธิ์ ชุณหกิจ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถคำนวณเวลาและสถานที่เกิดล่วงหน้าได้มานานหลายร้อยปีแล้ว และยังคำนวณล่วงหน้าจากนี้ไปได้นับแสนปี เพราะสุริยุปราคา เกิดจากดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ หากดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง เช่นเดียวกันปรากฎการณ์ครั้งนี้ที่เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงในชุดซารอสที่ 130 แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านมหาสมุทรอินเดีย ผ่านประเทศอินโดนีเซีย สู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน เห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุดทางภาคใต้ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 69 และค่อย ๆ เห็นน้อยลงจากใต้ขึ้นเหนือ กรุงเทพมหานครเห็นประมาณร้อยละ 41 และเชียงใหม่ ประมาณร้อยละ 27
สำหรับการสังเกตการเกิดสุริยุปราคาเช้าตรู่วันที่ 9 มี.ค. 2559 ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมานั้น ถ้าท้องฟ้าแจ่มใสไม่มีเมฆบดบังดวงอาทิตย์ ทุกพื้นที่จะสามารถสังเกตเห็นปรากฏารณ์ครั้งนี้ได้ ตั้งแต่เวลา 06.41 – 08.34 น. ซึ่งจะเป็นเพียง “สุริยุปราคาบางส่วน” เห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งสูงสุด ประมาณร้อยละ 38 ซึ่งทางหอดูดาวฯ ได้เตรียมอุปกรณ์สังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมชมสุริยุปราคาครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 – 09.00 น. เข้าร่วมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่หอดูดาวภายใน ม.เทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา
นายบุญญฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อควรปฏิบัติในการสังเกตการณ์สุริยุปราคานั้นต้องใช้อุปกรณ์โดยเฉพาะเท่านั้น ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าหรือแว่นกันแดดเด็ดขาด เพราะแสงอาทิตย์จะทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดถาวรได้ ห้ามสังเกตการณ์ผ่านกล้องทุกชนิด ทั้งกล้องถ่ายรูป กล้องโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ไม่ติดฟิลเตอร์ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีเลนส์รวมแสง ยิ่งทวีกำลังของแสงอาทิตย์มากขึ้น นอกจากอันตรายแก่ดวงตาแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะเสียหายด้วย
วิธีที่ถูกต้อง หากสังเกตทางตรงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสง หรือสังเกตทางอ้อมโดยใช้ฉากรับแสง สังเกตรูปร่างของเงาที่ทาบลงบนฉากนั้น สามารถใช้อุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ตัวเช่น กระดาษทึบ เจาะรูเล็ก ๆ ให้แสงลอดผ่าน แล้วทาบเงาลงบนพื้นผิวอื่น จะเห็นเงาที่ทอดลงเป็นวงกลมเว้าไปบางส่วน สัดส่วนเท่ากับขนาดของคราสในเวลานั้น เรียกว่าหลักการของ “กล้องรูเข็ม” กระชอนคั้นกะทิที่มีรูเล็ก ๆ ลำไผ่เจาะรู หรือแม้แต่ร่มไม้ที่มีแสงแดดลอดลงมาเป็นจุดเล็ก ๆ ก็ใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ได้ หรือเดินทางไปที่จุดสังเกตการณ์ของ สดร. และเครือข่ายดาราศาสตร์ทั่วประเทศ ก็จะได้สังเกตเงาคมชัด ฉายผ่านกล้องโทรทรรศน์ และยังมีแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์ดำ หรือฟิล์มไมลาร์ ซึ่งเป็นฟิล์มสีดำทึบ ใช้กรองแสงเพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ได้โดยตรง นอกจากนี้ หอดูดาวฯ ได้เตรียม “แว่นตาดูดวงอาทิตย์” ไว้บริการประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย หรือจะชมการถ่ายทอดสด “สุริยุปราคาเต็มดวง” จากประเทศอินโดนีเซียผ่าน www.narit.or.th ก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามสุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ ถ้าพลาดแล้วจะต้องรออีกเกือบสี่ปี คือวันที่ 26 ธันวาคม 2562 และเมืองไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้งในอีก 54 ปี ข้างหน้า วันที่ 11 เมษายน 2613 จะเป็นสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 130 ชุดเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ทรงคำนวณไว้ได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 และจะสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ที่อำเภอหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระราชอาคันตุกะไปทอดพระเนตรนั่นเอง