ชัดเจน “เวิลด์พีซ วัลเล่ย์” ธรรมกาย เขาใหญ่ ผิดกม.สิ่งแวดล้อมสร้างอาคารสูง11ชั้นไม่ทำ EIA จวกยับอบต.หลับตาออกใบอนุญาตก่อสร้างได้อย่างไร ผู้ว่าฯโคราช สั่งสอบเอาผิด จนท.ด้วย เผยผลตรวจสอบสรุปมีพื้นที่ทั้งหมด 480 ไร่ ส่วนที่งอกมา 500 ไร่พบเป็นของคนอื่น ขณะ 173 ไร่ไร้เอกสารสิทธิอยู่ในรั้วเวิล์ดพีซฯ สั่งป่าไม้เอาผิดตามกม.รุกป่า ขณะนิคมฯอ่อนยวบอ้างเวิลด์พีซ ดอดขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใช้พื้นที่แล้ว
ช่วงเย็นวันนี้ (22 ก.ค.) ที่ห้องประชุมท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง ศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ จังหวัดนครราชสีมา สาขาวัดธรรมกาย ของมูลนิธิตะวันธรรม ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านหนองจอก ม.6 ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ช่น กอ.รมน.จังหวัด , เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด , ปฎิรูปที่ดินจังหวัด , นิคมสร้างตนเองลำตะคอง , อำเภอปากช่อง , นายก อบต.โป่งตาลอง , ทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 5 , พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , พนักงานสอบสวน สภ.หมูสี อ.ปากช่อง และ ตำรวจภูธรภาค 3 , ทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา อ.ปากช่อง เป็นต้น
ใช้เวลาในการประชุมครั้งนี้กว่า 1 ชั่วโมง แต่ยังไม่สามารถสรุปประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนในทุกประเด็น จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อนำเข้าสู่การประชุมครั้งต่อไป
นายวิเชียรฯ จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวสรุปการประชุมครั้งนี้ว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ยืนยันว่า พื้นที่ของสำนักปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ ดังกล่าว มีพื้นที่จำนวน 480-0-61 ไร่ โดยมีเอกสารสิทธิ จำนวน 15 แปลง เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 13 แปลง รวม 307-0-03 ไร่ แยกเป็น โฉนดที่ดิน 3 แปลง เนื้อที่ 62-03-97 ไร่ , น.ส.3 ก จำนวน 12 แปลง เนื้อที่ 244-0-08 ไร่ และมีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิการครอบครองเนื้อที่ 173-0-97 ไร่
โดยเจ้าหน้าที่ที่ดินจะลงรังวัดในพื้นที่จริง วันที่ 29 ก.ค. และ 2 ส.ค. นี้ ให้แล้วเสร็จเพื่อตรวจสอบต่อไปว่า โฉนดแปลงดังกล่าวมีการขออนุญาตสิ่งปลูกสร้างตรงแปลงหรือไม่ รวมถึงการก่อสร้างทับลำรางสาธารณะหรือไม่
ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีการออกสารสิทธิ กว่า 173 ไร่นั้น ตามกฎหมายยังเป็นพื้นที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 อยู่ ดังนั้นต้องดำเนินการกับผู้ยึดครอง เพราะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอย่างชัดเจนเบื้องต้นทราบว่ามีทั้งหมด 7 แปลง มีชื่อเจ้าของครอบครองประมาณ 4-5 รายเท่านั้น โดยดูได้จากเอกสาร ภ.บ.ท. 5 ที่ไปแสดงกับ อบต.โป่งตาลอง ส่วนจะมีการก่อสร้างในพื้นที่ 173 ดังกล่าวหรือไม่ ก็จะตรวจสอบความชัดเจนเช่นกัน หากพบว่า มีการก่อสร้างต้องดำเนินการตามกฎหมายด้วย
สำหรับกรณีที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ได้รายงานเบื้องต้นว่า หลังลงพื้นที่ทำการสำรวจตำแหน่งที่ดินเบื้องต้น โดยใช้รถวิ่งรอบตามแนวรั้วที่เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ของ เวิลด์พีช วัลเล่ย์ซึ่งคำนวณพื้นที่ได้รวมประมาณ 954 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นมากว่า 500 ไร่ นั้น ล่าสุดจากการส่งพิกัดดังกล่าวให้ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบพบว่า พื้นที่ที่เกินมากว่า 500 ไร่นั้นพบว่า มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องและไม่เกี่ยวข้องกับสถานปฏิบัติธรรมเวิลด์พีช วัลเล่ย์ แต่เป็นของเอกชนรายอื่น ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่าเนื้อที่ของเวิลด์พีชฯ มีแค่ 480 ไร่ ตามเดิม
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องการก่อสร้างอาคารสูง 11 ชั้น จำนวน 1 หลัง และอาคารทรงกลม เอนกประสงค์ สูง 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง ซึ่งตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ระโครงการที่ต้องทำ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) คือ อาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไปนั้น จากการตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา พบว่า ทางเวิล์ดพีซ วัลเล่ย์ ไม่ได้มีการจัดทำ EIA แต่อย่างใด แต่ทาง อบต.โป่งตาลอง กลับแจ้งว่า ได้มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ไปแล้ว
โดยออกไปทั้งสิ้น 4 ใบ คือ ใบอนุญาตเลขที่ 2/22554 เป็น อาคาร 6 หลัง แบ่งเป็น 4 ชั้น 2 ชั้น และ 1 ชั้น , ใบอนุญาตเลขที่ 5/2554 เป็นอาคาร 4 หลัง 2 ชั้น 2 ชั้น และ 4 ชั้น , ใบอนุญาตที่ 34/2554 อาคาร 11 ชั้น 1 หลัง และ สุดท้ายใบอนุญาตสร้างอาคาร 12 ชั้น 1 หลัง แต่ได้ทำการยกเลิกไปแล้ว แต่ทางท้องถิ่นยังไม่อนุญาตให้ใช้สิ่งก่อสร้างเหล่านี้
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างอาคาร 11 ชั้น ดังกล่าวถือว่าเป็นอาคารที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ส่วนกรณีที่ อบต. ได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้นั้น ต้องตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วยว่าออกใบอนุญาตให้ได้อย่างไร โดยจะให้ทางอำเภอปากช่องเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
ส่วนประเด็นอื่น ๆ ทั้งเรื่องการขุดบ่อบาดาลโดยไม่ได้รับอนุญาต นั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานเข้ามาแล้วพบการกระทำความผิดจริง และจะดำเนินการในการเปรียบเทียบปรับต่อไป ขณะที่การขยายเขตไฟฟ้าในเขตนิคมฯ นั้น ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาปากช่อง ระบุว่าได้มีการนำเอกสารสิทธิมาขอใช้ไฟอย่างถูกต้อง แต่การติดตั้งเสาไฟฟ้าภายในพื้นที่นั้นไม่เกี่ยวข้องกับทางการไฟฟ้า เป็นการดำเนินการของเอกชนเอง จึงถือว่าไม่มีความผิดในส่วนนี้
สำหรับการนำที่ดินของนิคมสร้างตนเองไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้น ล่าสุดได้รับทราบจากทางนิคมสร้างตนเองลำตะคองว่า ทางเวิลด์พีซฯ ได้ยื่นขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์แล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2559 ซึ่งกฎหมายนิคมสามารถทำได้
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า จากนี้คงต้องรอผลการรังวัดที่ดินจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปากช่อง หลังวันที่ 2 ส.ค. จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในประเด็นอื่นๆ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำไปประกอบสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินการเอาผิดกับ เวิลด์พีซ วัลเล่ย์ ต่อไป
โดยขณะนี้ได้มีการตั้งประเด็นการสอบสวนไว้ 3 ประเด็นคือ 1. นำโฉนดเท็จไปแจ้งเจ้าพนักงานมีความผิดแจ้งเท็จ 2. บุกรุกลำรางทางสาธารณะ 3. การก่อสร้างอาคารไม่ถูกต้องโดยไม่ตรงกับโฉนดที่ขออนุญาต และ 4. เจาะบ่อบาดาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งประเด็นนี้ชัดเจนแล้ว หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะดำเนินการเปรียบเทียบปรับต่อไป
ส่วนคดีการบุกรุก ก่อสร้าง แผ้วถางพื้นที่ป่า ในจำนวน 173 ไร่ ที่ไม่เอกสารสิทธิ นั้น ทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) รับไปดำเนินคดีเองทั้งหมด นายวิเชียร กล่าวในต้อนท้าย