โคราชเผชิญวิกฤติแล้ง ลำตะคอง เรียกประชุมคณะกรรการจัดการชลประทาน หรือ JMC เพื่อบริหารจัดการน้ำ ให้ผ่านวิกฤติแล้งไปได้ พร้อมงัดแผนระยะที่ 6 สู้ สั่งประชาชนงดปลูกนาปรัง และงดส่งน้ำให้โรงกรองมะขามเฒ่าแนะเทศบาลนครฯ ใช้น้ำจากลำแชะ วางแผนส่งน้ำช่วยข้าวตั้งท้องชาวนา 10 ล้านลบ.ม. และส่งให้เพื่อการอุปโภคบริโภคเดือนละ 12 ล้าน ลบ.ม.
วันนี้ (2 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 8 ถ.สืบศิริ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวิทย์ คำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เขื่อนลำตะคอง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแผนการใช้น้ำเนื่องจากปัจจุบันน้ำลำตะคองเหลือน้อย ล่าสุดมีน้ำใช้การได้ 113.73 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ36 ของความจุระดับกักเก็บ 314ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปี 2557 เนื่องจากปีนี้ฝนตกปริมาณน้อยเฉลี่ย 1,000 ลบ.ม. ขณะนี้เขื่อนลำตะคองบริการจัดการน้ำโดยใช้แผนระยะที่ 6 คือ คงอัตราการระบายน้ำออกจากเขื่อน วันละ 259,200 ลบ.ม. (3 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) แต่ทั้งนี้ระหว่างที่ใช้แผนนี้อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพื่อรักษาน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนให้คงระยะอยู่ได้จนกว่าจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อน รวมทั้งพิจารณาปิดประตูระบายน้ำหรือลดการระบายน้ำ เมื่อมีฝนตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนและมีน้ำเพียงพอในลำตะคลอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิทย์ ทำดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะที่ประธานในที่ประชุม กล่าวกำชับกับหน่วยงานชลประทานว่า อย่าไปห้ามให้ชาวบ้านทำนา เนื่องจากเป็นการทำร้ายจิตใจ เพราะนั่นคือชีวิต ชาวนาไม่มีอาชีพอื่นนอกจากการทำนา แต่ขอให้ไปแนะนำให้ชาวนาปลูกพืชชนิดอื่นแทนในช่วงที่ประสบภาวะภัยแล้งแทนจะเป็นการดีกว่าการไปห้ามไม่ให้ทำนา หรือขอความร่วมมือจะดีกว่า พร้อมให้ดูแลหากปล่อยน้ำมาแล้วจะเกิดปัญหาการลักสูบน้ำของประชาชนได้
นายสิทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม JMC มีมติให้เขื่อนลำตะคองส่งน้ำให้ข้าวนาปีช่วงปลายฤดูข้าว ซึ่งข้าวกำลังตั้งท้องจะออกรวงในเดือน พ.ย. 2558 ปริมาณ 10 ล้านลบ.ม. เริ่มตั้งแต่ 5-20 พ.ย. 2558 และให้เขื่อนลำตะคองส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเดือนละ 12 ล้าน ลบ.ม. ในระยะเวลา 3 คือ พ.ย.2558-ม.ค. 2559 ส่วนวิธีการส่งน้ำนั้นจะมีการหารือกับประปาที่ใช้น้ำจากลำตะคองอีกครั้งว่าจะส่งเป็นรอบเวร หรือทยอยส่งอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจะมีการหารือในประชุม JMC อีกครั้งในเดือน ม.ค. 2559
อย่างไรก็ตามปีนี้ยอมรับว่าเขื่อนลำตะคองมีน้ำเหลือน้อยมากจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและปรากฎการณ์เอลนีโญ่ในปีนี้ส่งผลให้ฝนตกน้อย แต่ไม่ถึงขึ้นวิกฤติรุนแรง สามารถบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ได้ หากประชาชนและองค์กรเอกชนและภาครัฐมีระเบียบวินัยในการใช้น้ำก็จะสามารถบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้มีไปจึงถึงหน้าฝนปี 2559 ซึ่งปีนี้ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรในการงดทำนาปรังโดยสิ้นเชิงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ขณะนี้เดียวกัน ได้ให้เทศบาลนครราชสีมา งดสูบน้ำดิบจากเขื่อนมะขามเฒ่า ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา แต่ยังให้สูบน้ำโดยตรงจากเขื่อนลำตะคองและเขื่อนลำแชะเนื่องจากน้ำมีไม่เพียงพอให้จะส่งให้ประกอบกับโรงกรองน้ำมะขามเฒ่าอยู่ห่างจากเขื่อนลำตะคองกว่า 100 กม.น้ำส่งมาให้ไม่ถึง ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ภัยแล้ง รวมทั้งสิ้น 7 อำเภอ 28 ตำบล 228 หมู่บ้าน (อำเภอขามสะแกแสง,คง,ด่านขุนทด,เทพารักษ์,โนนไทย,บัวใหญ่,และพระทองคำ) ขณะนี้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนทั้ง 228 หมู่บ้าน