โคราชงัด 7 มาตรการแผนบริหารจัดการน้ำป้องกันปัญหาภัยพิบัติแล้งรุนแรง หลังน้ำเขื่อนเหลือน้อยหวั่นน้ำไม่พอใช้ในปี 59 สั่งเทศบาลนครฯ เร่งสูบน้ำจากลำแชะเต็มพิกัด งดสูบน้ำจากเขื่อนลำตะคองพร้อมให้การประปาทุกแห่งเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ให้ได้มากี่สุด พร้อมให้บริการจัดการน้ำรวมกันทุกเขื่อนเสมือนเป็นเขื่อนเดียว หากภาวะไม่ปกติให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจทางการปกครองสั่งการ
วันนี้ (24 ก.ย.) นายภานรินทร์ ภาณุพินทุ นายช่างชลประทานอาวุโส ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดนครราชสีมาทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางว่า ล่าสุดมีปริมาณมีปริมาณน้ำรวม 416.24 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35.43 ของปริมาณน้ำรวม 1,174.76 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วซึ่งมีปริมาณน้ำ 564.64 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของปริมาณน้ำรวม
โดยเขื่อนขนาดใหญ่ 5 โครงการมีปริมาณน้ำรวม 322.76 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของความจุระดับกักเก็บ 948 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำดิบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 100 แห่งที่นำน้ำไปผลิตประปาใช้หล่อเลี้ยงประชาชน มีปริมาณน้ำเหลือ 93 ล้าน ลบม. (น้ำใช้การได้ 74 ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 29.60 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 61.90 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 56.46 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 40.29 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 28.58 ของความจุระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 78.19 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 28.43 ของความจุระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำ 43.82 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 44.71 ของความจุระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการ มีปริมาณน้ำเหลือ 93.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41.23 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม.
นายภานรินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำดังกล่าวถือว่าปีนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยมาก หากไม่มีฝนเติมลงมาอีกจังหวัดนครราชสีมาหนีไม่พ้นเกิดปัญหาแล้งอย่างหนักแน่นอน ทั้งนี้ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงษาลำตะคอง ได้มีการเสนอแนวทางเข้าสู่คณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำป้องกันปัญหาภัยพิบัติ ที่อาจเกิดขึ้นจาปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2559 ก่อนจะเกิดปัญหาภัยพิบัติขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ดังนี้ คือ
1.ให้เทศบาลนครนครราชสีมาสูบน้ำจากเขื่อนลำแชะเต็มพิกัดอัตราสูงสุดวันละ 100,000 ลบ.ม., 2.ให้เทศบาลฯ งดการสูบน้ำจากเขื่อนลำตะคอง เพื่อเก็บสำรองน้ำที่เหลือในเขื่อนไว้ให้การประปาภูมิภาคสีคิ้ว และการประปารายอื่นที่ไม่สามารถใช้น้ำจากเขื่อนอื่นได้ 3.ให้ทางเทศบาลนครฯ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อส่งน้ำจากโรงกรองอัษฎางค์ไปให้โรงกรองมะขามเฒ่า เพื่อให้มีน้ำจ่ายตามปกติ ถึงแม้จะงดสูบน้ำจากเขื่อนลำตะคองแล้วก็ตาม 4.เขื่อนลำแชะและลำมูลบนต้องเก็บสำรองน้ำไว้ให้การประปานครราชสีมาและการประปาภูมิภาครมทั้งการประปาอื่น ที่ใช้น้ำจากลำมูลด้านท้ายเขื่อนตั้งแต่ อ.ครบุรี, โชคชัย, เฉลิมพระเกียรติโดยคำนวณน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้ได้เพียงพอตลอดฤดูแล้งปี 2559 และต้องงดการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2559ในเขตชลประทานท้ายเขื่อนทั้งหมด 5. เขื่อนลำพระเพลิงก็เช่นเดียวกัน ต้องกันสำรองน้ำไว้ให้การประปาและเขตรับผิดชอบและต้องส่งน้ำเข้าลำมูลมาที่ อ.เฉลิมพระเกียรติด้วยเพื่อช่วยเหลือการประปาภูมิภาคนครราชสีมา สมทบกับน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนมูลบนและเขื่อนลำแชะรวมทั้งต้องงดการปลุกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ชลประทานท้ายเขื่อนทั้งหมด
6.ต้องบริหารจัดการน้ำรวมกันทุกเขื่อนเสมือนเป็นเขื่อนเดียวกัน เพื่อให้เมืองโคราชรอดพ้นวิกฤติขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในปี 2559 และ 7. ในภาวะที่ไม่ปกติ ต้องใช้อำนาจทางการปกครองโดยผู้วาราชการจังหวัดนครราชสีมาเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน แก้ปัญหาร่วมกัน จึงจะฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคได้สำเร็จ ทั้งนี้หากทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะทำให้จังหวัดนครราชสีมาสามารถฝ่าวิกฤติแล้งไปได้