โคราชเตรียมพร้อมรับมือฝนถล่มจากอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “หว่ามก๋อ” 16-17 ก.ย.นี้ ติดตั้งเครื่องสูบและผลักดันน้ำ ห่วงเขตเมืองน้ำท่วมสูง ขณะที่เขื่อนยังรับน้ำได้อีกมากเหตุน้ำเหลือน้อย งัดแผนจัดการน้ำระยะที่ 4 ระยะสุดท้ายสู้หวังฝนเ ติมน้ำเขื่อน
วันนี้ (14 ก.ย. ) กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “หว่ามก๋อ” มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองดานัง ประเทศเวียดนามประมาณ 350 กม.หรือที่ละติจูด 15.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กม.ต่อชั่วโมงกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 12 ก.ม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 15-16 ก.ย.นี้ โดยจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงวันที่ 16-17 ก.ย. 2558 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
นายสิทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า โครงการฯ ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบจากพายุดังกล่าวซึ่งอาจจะเกิดปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองนครราชสีมา โดยได้สั่งการให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้วไว้ที่ ประตูระบายน้ำจอหอ,ข่อยงาม,กันผม เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำในเวลาน้ำหลายป้องกันน้ำท่วมเขตชุมชนเทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลจอหอ และ เทศบาลตำบลหัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสมา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้วไว้ที่หมู่บ้านวีไอพีและ โรงพยาบาลมหาราชเพื่อช่วยสูบน้ำลงลำตะองให้เร็วขึ้น ป้องกันน้ำท่วมหมู่บ้านและโรงพยาบาล รวมทั้งสั่งการเจ้าหน้าที่ทั้งหมดทุกเขื่อนและประตูระบายน้ำเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในพื้นที่ด้วย
ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคองยังน่าห่วง ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้แค่ 48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุ ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. ทางโครงการฯได้ ปรับแผนการจัดการน้ำเข้าสู่ระยะที่ 4 คือระยะสุดท้ายในเดือน ก.ย.นี้ ตามมิติของคณะกรรมการบริการจัดการน้ำจังหวัดนครราชสีมาได้วางแผนไว้ โดยให้เขื่อนลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำปลายมาศ และเขื่อนระบายน้ำพิมาย ดำเนินการควบคุมการระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกศา และรักษาระบบนิเวศน้ำให้คงเดิม ส่วนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ให้คงอัตราการระบายน้ำออกจากเขื่อนวันละ 2.59 แสน ลบ.ม. (3 ลบ.ม./วินาที) แต่ทั้งนี้ระหว่างที่ใช้แผนนี้อาจปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการโครงการฯ มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อรักษาน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อนให้คงระยะอยู่ได้จนกว่าจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนรวมทั้งพิจารณาปิดประตูระบายน้ำหรือลดการระบายน้ำ เมื่อมีฝนตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนและมีน้ำเพียงพอในลำตะคอง พร้อมขอความร่วมมือหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และประชาชน ภายในจังหวัดนครราชสีมา ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำที่เคยใช้ของแต่ละเดือนรวมทั้งให้หน่วยงานที่มีระบบประปาผิวดินเป็นของตนเอง ให้เร่งสูบน้ำกักเก็บไว้ในช่วงฤดูฝนให้มากที่สุดเพื่อให้มีน้ำดิบสำรองหลังสิ้นฤดูฝน
ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ล่าสุดมีปริมาณมีปริมาณน้ำอยู่ 210 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุระดับกักเก็บ 948 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเหลือ 65.48 ล้าน ลบม. (น้ำใช้การได้ 48 ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 20.8 ของความจุระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลือ 14.96 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 13.65 ของความจุระดับกักเก็บ 109 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 33.39 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 23.68 ของความจุระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือ 52.85 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 19ของความจุระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสางมีปริมาณน้ำเหลือ 38.78 ล้าน ลบม. คิดเป็นร้อยละ 39.58 ของความจุระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการ มีปริมาณน้ำเหลือ 73.31 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม.