โคราชจัดประชุมคณะกรรมการอุทยานธรณีโลกและประชาคมในอุทยานธรณีโคราช พร้อมเปิดสำนักงานอุทยานธรณีโคราช เน้นการอนุรักษ์ร่วมท่องเที่ยวเชิงธรณีแบบยั่งยืน ชุมชนได้ประโยชขน์ เตรียมเสนอระดับโลกให้ยูเนสโกรับรอง
วันนี้ (15 ส.ค.) เวลา 14.00 น. ที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอุทยานธรณีโลก และประชาคมในอุทยานธรณีโคราช พร้อมเปิดสำนักงานอุทยานธรณีโคราช หรือ Khorat Geopark โดยเป็นโปรแกรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โปรแกรมหนึ่งของยูเนสโกคล้ายกับมรดกโลก (World Heritage) และพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) อุทยานธรณี (Geopark) เน้นการอนุรักษ์ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีแบบยั่งยืน ซึ่งจะ ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์มรดกทางธรณีในท้องถิ่น ทั้งในรูปงานอาชีพบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น การผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร / หัตกรรมของท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ รวมทั้งงานอาชีพใหม่ที่เกิดจากการลงทุนในโครงการต่างๆ จากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่นักวิจัยของสถาบันไปศึกษาในภาคสนามและจากการประชุมระดมสมองจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 อำเภอที่จะจัดตั้งอุทยานธรณีโคราช ตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก ได้แก่อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมาและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งอุทยานธรณีโคราชระดับจังหวัด และเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศ ต่อจากอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการในระดับประเทศและคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกที่กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอต่อยูเนสโกในปี 2559 นี้
ด้าน ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่าอุทยานธรณี เป็นรูปแบบการอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยที่ปัจจุบันยูเนสโกได้รับรองการจัดตั้งอุทยานธรณีระดับโลกหรือ Global Geopark ไปแล้ว 111 แห่งจาก 32 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศจีนมีมากที่สุดถึง 31 แห่ง ในอาเซียนมีเฉพาะประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศละ 1 แห่ง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี กรมทรัพยากรธรณี จึงมีนโยบาย ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ที่จะสนับสนุนการจัดตั้งอุทยานธรณีในหลายรูปแบบ เช่น การสนับสนุนงบประมาณจัดทำแผนแม่บทอุทยานธรณีในจังหวัดต่างๆ การสำรวจแหล่งธรณีอันควรอนุรักษ์ภายในประเทศ การจัดประชุมสัมมนาการจัดตั้งอุทยานธรณี เป็นต้น ทำให้หลายจังหวัดเริ่มดำเนินโครงการอุทยานธรณีขึ้น เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น สตูล ตาก โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา หากมีการจัดตั้งหรือรับรองโดยยูเนสโกแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 3 ประเทศของโลกที่ภายใน 1 จังหวัดมีรูปแบบการอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง 3 โปรแกรม เหมือนเช่นประเทศเกาหลีใต้และอิตาลี ซึ่งจะได้รับการยกย่องเป็น “The UNESCO triple crowns” และสามารถนำแบรนด์หรือความโดดเด่นระดับโลกข้างต้น มาใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคต