สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดประชุมและนิทรรศการ Thailand Synchrotron Conference and Exhibition (TSCE2016) in conjunction with SME BIZ ASIA 2016 เต็มรูปแบบครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่ โชว์ผลงานวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก พร้อมนำแสงซินโครตรอนใช้ประโยชน์กับภาคอุตฯ เปิดคลินิกรับปรึกษาSME ครบวงจร และลงนามความร่วมมือกับเอกชน
วันนี้ ( 28 ก.พ.) ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดให้บริการแสงซินโครตรอนมานานกว่า 12 ปี แก่นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน
อย่างไรก็ตามความรู้ ความเข้าใจเรื่องของแสงซินโครตรอนยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะภาคการศึกษาและวิจัยเท่านั้น ทั้งที่แสงซินโครตรอนนั้น มีประโยชน์อีกหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีส่วนในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมาสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไม่ต่ำว่า 3,200 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมใหญ่ Thailand Synchrotron Conference & Exhibition (TSCE2016) ที่มุ่งหวังให้เกิดการพบปะกันระหว่างผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอน ทั้งภาควิชาการ จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย และจากภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของแสงซินโครตรอนและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านงานวิจัยโดยใช้แสงซินโครตรอน
การจัดงาน TSCE 2016 ถือเป็นการจัดงานประชุมและนิทรรศการที่เต็มรูปแบบเป็นครั้งใหญ่และถือเป็นครั้งแรกของสถาบันวิจัยซินโครตรอน โดยผนวกรวมกับงาน SME BIZ ASIA 2016 การประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ครั้งที่ 6 (AUM2016) และงาน 4th Synchrotron Advanced Technology for Industry (SATI4) ภายในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยข้อมูลการดำเนินงานของสถาบันนับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน การแสดงผลงานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอนทางวิชาการ และด้านอุตสาหกรรม (show case) จากภายในประเทศ และจากต่างประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ มีความยินดีอย่างยิ่ง ในการสานสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรม โดยจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ขึ้นในวันนี้ เพื่อเป็นนิมิตหมายอันดี ในการขยายความร่วมมือในการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนเพื่องานวิจัย ให้เกิดความเข้มแข็งในเชิงวิชาการ เพื่อต่อยอดสู่งานวิขัยในเชิงพาณิชย์ในอนาคต
สำหรับงาน TSCE 2016 จะมีขึ้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันพรุ่งนี้ ( 28 ก.พ.) ณ อิมแพค ฮอล์ 1 เมืองทองธานี ผู้มาร่วมงานได้พบกับผลงานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอนในการไขความลับเพื่อหาคำตอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การไขความลับภาพเขียนของแวน โก๊ะ ศิลปินชื่อก้องโลกด้วยแสงซินโครตรอน การสืบหาสูตรการหุงกระจกเกรียบโบราณ กระจกสีที่ประดับประดาอยู่ตามเสาหาร ณ วัดพระแก้ว เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ให้เหมือนเดิมทุกประการ
อีกทั้งยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ การเปลี่ยนสีไข่มุกให้เป็นสีทองด้วยแสงซินโครตรอน ครั้งแรกของโลก และนิทรรศการเปิดตัวทีมรุก 3 ทีม สำคัญของสถาบันฯ รองรับการให้บริการอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นทีม Synchrotron Solution (SS) เพื่อแก้โจทย์ปัญหาอุตสาหกรรมอย่างเบ็ดเสร็จ,ทีม Automation Vacumm Machine (AVM) ออกแบบ/สร้างระบบสุญญากาศและระบบควบคุมเพื่ออุตสาหกรรม และทีม Microsystems, Electronics and Control System (MECs) ออกแบบ/สร้างระบบการทำงานจุลภาคที่ผนวกรวมระบบอิเล็กทรอนิคส์ เป็นระบบชาญฉลาดเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ในส่วนของงาน SME BIZ ASIA 2016 ที่จัดร่วมกัน จะได้พบกับการบรรยายพิเศษที่เอสเอ็มอีไม่ควรพลาด โดยวิทยากรระดับแนวหน้า อาทิ “จาก AEC สู่ RCEP, APEC .. SMEs ในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค” โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, “ธุรกิจและการปรับตัวของ SMEs ในยุค New Normal” โดย ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์, ซินโครตรอน:แสงแห่งอนาคตเพื่อ SMEs”, “Big Data : อำนาจแห่งข้อมูลในมือ SMEs”, “เจาะใจนักสู้เพื่อ SMEs” รวมทั้งหัวข้อที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ กล่าวในตอนท้าย