หน้าฝนไข้เลือดออกระบาดหนัก อีสานล่างพบผู้ป่วยแล้ว กว่า 5,000 ราย ตายแล้ว 3 ราย โคราชชัยภูมิตัวเลขป่วยมาก ด้าน สคร. 5 เตรียมลงพื้นที่ให้ความรู้ ปชช. เผยผู้ใหญ่ป่วยมากขึ้นและรักษายาก
วันนี้ (28 ส.ค.)ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (สคร.5)นครราชสีมา เปิดเผย ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกว่าข้อมูลจากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตบริการสุขภาพที่ 9 (จ.บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 สิงหาคม 2558 พบผู้ป่วย จำนวน 5,110 ราย ตาย 3 ราย ประกอบด้วยจังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 722 ราย จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 1,175 ราย จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 2,474 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 รายจังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 739 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
ทั้งนี้กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าปีนี้โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มการระบาดสูงกว่าถึง 3 เท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดได้แก่ จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมาส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และปีนี้จากสถิติจะพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งการรักษาก็ทำได้ยากมากกว่าเด็ก เนื่องจากผู้ใหญ่บางรายมีโรคประจำตัวอย่างอย่างซึ่งทางสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ได้จัดทีมประเมินคุณภาพการดำเนินงานควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อำเภอที่มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกต่อเนื่อง เกิน 8 สัปดาห์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ภาชนะเสี่ยง ได้แก่ อันดับ 1 น้ำใช้ในห้องน้ำ อันดับ 2 น้ำดื่ม อันดับ 3 ยางรถยนต์เก่า อันดับ 4 จานรองขาตู้กันมด
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกคือ หลังจากถูกยุงมีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย บางรายมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออก ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากไข้ลดลง โดยจะเริ่มซึมลง ตัวเย็น ชีพจรเบา หมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งส่วนใหญ่ยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน เว้นแต่กลางวันไม่มีเหยื่อให้กิน ในที่ที่มีแสงไฟกลางคืนก็จะออกกินเลือดได้เช่นกันยุงตัวเมียมีอายุไขเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 วัน ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6ครั้ง ตลอดช่วงที่มีชีวิตของยุงลายตัวเมียตัวหนึ่งจึงสามารถผลิตยุงลายรุ่นลูกได้ราว 500 ตัว
นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะเป็นการรักษาตามอาการ สามารถป้องกันได้ด้วยการป้องกันอย่าให้ถูกยุงกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือน “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” คือ เก็บน้ำให้มิดชิด เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เก็บขยะเศษอาหารให้หมด เพื่อป้องกันลูกหลานจากโรคไข้เลือดออกดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเก็บภาชนะรอบๆบ้าน เช่น ยางรถยนต์ กระป๋อง ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการนอนในมุ้ง หรือทายากันยุง หรือใช้สมุนไพรไล่ยุง เมื่อป่วยมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พบจุดเลือดที่ผิวหนัง หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขทุกแห่งได้จัดตั้งวอร์รูม เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของ สคร. 5 จะได้ส่งทีมวอร์รูม ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา และจ.สุรินทร์ที่พบผู้ป่วยมากเพื่อแนะวิธีการป้องกันและเฝ้าระวังโรค