ในขณะที่กระแสความกังวลเรื่องการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ ในเชิงตัวเลขว่าจะเติบโตไม่ได้ตามเป้าประมาณการ หรือมีตัวเลขไม่สูงนัก แต่กลับมีข่าวที่ต่างประเทศมองไทยน่าสนใจก็คือ เมื่อวานนี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ทำการจัดอันดับ 15 ชาติและดินแดนที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุด โดยอ้างอิงจาก “ดัชนีความทุกข์ยาก” ที่ทางบลูมเบิร์กทำเอง ซึ่งคำนวณจากอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ ผลที่ได้ปรากฏว่าประเทศที่ทุกข์ยากต่ำที่สุด หรือเท่ากับมีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดคือ “ประเทศไทย”
โดยบลูมเบิร์ก ระบุว่า ดัชนีความทุกข์ยากที่ใช้นั้น คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไม่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจ ชาติที่มีคะแนนต่ำในดัชนีนี้จึงถือว่ามีความสุขในเชิงเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจอันดับ 1 เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาก ด้วยตัวเลข 0.56 เปอร์เซ็นต์เมื่อช่วงสิ้นปี 2014
ยังมีการระบุอีกด้วยว่า มากกว่า 40 %ของชาวไทยอยู่ในภาคการเกษตร คนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้มีการศึกษาสูงแต่ไม่สามารถหางานทำได้หรือตกงาน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้สูญเสียงานประจำ ทันทีที่เขากลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำสวนทำนา ก็จะถูกพิจารณาว่าเป็นผู้มีงานทำในทันที
และ การที่ไทยไม่ค่อยมีหลักประกันให้กับผู้ว่างงานมากนัก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไทยอยู่ว่างงานนานมากไม่ได้ ต้องดิ้นรนเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ผู้ที่สูญเสียงานประจำจึงต้องหันไปทำงานนอกระบบ อาทิ พ่อค้าแผงลอย วินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ฯลฯ หรือไม่ก็หางานพาร์ตไทม์ ซึ่งการทำเช่นนั้นถูกนับว่าเป็นผู้มีงานทำไปโดยปริยายเช่นกัน
สำหรับ 15 ประเทศและดินแดนที่มีความสุขในเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดของบลูมเบิร์กมีดังนี้
1. ไทย 2. สวิตเซอร์แลนด์ 3. ญี่ปุ่น 4. เกาหลีใต้ 5. ไต้หวัน 6. เดนมาร์ก 7. จีน 8. สหรัฐอเมริกา 9. นอร์เวย์ 10. สหราชอาณาจักร 11. ออสเตรีย 12. นิวซีแลนด์ 13. ไอซ์แลนด์ 14. มาเลเซีย 15. เยอรมนี
การวัดดัชนีความสุขเชิงเศรษฐกิจของบลูมเบิร์ก ครั้งนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะ ตามแนวทางการพัฒนาประเทศของไทยนับแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2504 ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศดูเหมือนจะมุ่งหน้าสู่การพัฒนาประเทศเพื่อไล่ตามฝรั่ง มาโดยตลอด หรือ ต้องการที่จะพัฒนาประเทศไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมให้ได้ ถึงกับมีบางยุคบางสมัย ที่ผู้นำประเทศฝันอย่างจะเป็นเสือเศรษฐกิจ
การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม ทั้งๆที่พื้นฐานของประเทศไทยคือสังคมเกษตรกรรม ทำให้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน ประเทศไทยดูทันสมัยมากขึ้น มีเทคโนโลยี มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมากมาย …ทำให้ภาคเกษตรถูกลดทอนลงไปมาก จนล่าสุดภาคเกษตรมีสัดส่วนประมาณ40 % เท่านั้น
การจัดอันดับประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจ ครั้งนี้ที่ให้น้ำหนักของภาคเกษตรที่สามารถรองรับแรกกระทบ แรกกระแทกของภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการอื่นๆ เป็นสิ่งที่สังคมไทยน่าจะมีการทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่หรือไม่….
การมุ่งหน้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม ต้องยอมรับว่าแม้จะสะดวกสบาย มีความทันสมัย แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหา หรือ ผลกระทบมากมาย ไม่ว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นป่าไม้ หรือทรัพยากรถูกทำลายขนานใหญ่ การแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมด้วยอำนาจของทุนฯ หรือเกิดปัญหาสังคมมากมาย อย่างเช่น ช่องวางคนขนคนรวยที่ถ่างห่างกว้างขึ้นทุกที กลุ่มที่มีอำนาจทุนกว้านแย่งทรัพยากรพื้นฐาน อย่างที่ดินไปไว้ในมือจำนวนมาก โดยที่บางครั้งไม่ได้สร้างประโยชน์ให้เกิดมูลค่าอย่างคุ้มค่า เป็นต้น
เราเห็นได้ชัดเจนว่า ในขณะที่เรามุ่งหน้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรม มานานเกินครึ่งศตวรรษ แต่ สิ่งที่บ่งชัดว่า ความสุขทางเศรษฐกิจแท้จริงอยู่ที่ภาคเกษตร…ถึงเวลาที่เราจะหันกลับมาทบทวน เพื่อสร้างสมดุล สร้างความสุขทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ให้สมกับเดิมที่ดินแดนแห่งนี้คือดินแดนแห่งสุวรรณภูมิอย่างแท้จริง ….. ?