25 April 2024


รำลึก 100 ปีชาตกาล”ศ.ดร. บุญรอด บิณฑสันต์”ผู้วางรากฐานการพัฒนาแห่งลุ่มน้ำโขง

Post on: Dec 22, 2015
เปิดอ่าน: 806 ครั้ง

รำลึก 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร. บุญรอด บิณฑสันต์  ชีวิตที่เป็นยิ่งกว่า “ ตำนาน ”  ผู้วางรากฐานการพัฒนาแห่งลุ่มน้ำโขง

รำลึก 100 ปี ดร บุญรอด3

ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ เป็นผู้ก่อตั้ง “การพลังงานแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานเฉพาะด้านพลังงานแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2496 หลังจากผลักดันให้มีการ  “ตราพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายกำกับดูแลและจัดหาพลังงาน    เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกการจัดหาแหล่งพลังงานของประเทศจากพลังน้ำ  โดยสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็นแห่งแรก คือ “เขื่อนน้ำพอง” หรือ “เขื่อนอุบลรัตน์” เป็นแห่งแรก  โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2509

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขง (ตอนล่าง) และสร้างความร่วมมือกับประเทศภาคีสมาชิกของลุ่มน้ำ คือ ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ทำให้เกิดการสำรวจเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโขงอีกหลายโครงการ และจัดตั้ง “สำนักงานกลางคณะกรรมการประสานงานสำรวจลุ่มน้ำโขงตอนล่าง” ซึ่งเป็นส่วนนึ่ง   ขององค์การสหประชาชาติขึ้นในปี พ.ศ.2500 โดยมอบหมายให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติ   (ปัจจุบัน คือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) เป็นผู้ประสานงานกลางฝ่ายไทยและได้จัดตั้ง “โครงการสำรวจเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโขง” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 เพื่อดำเนินงานโครงการนี้

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ยังนำพาประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกจัดตั้งองค์การพลังงานโลก (World Energy Council)

รำลึก 100 ปี ดร บุญรอด1

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) ซึ่งประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละประเทศเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

จากความร่วมมือระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ 2538 จนกระทั่งปี 2543 ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการประชุมครั้งที่ 9 ได้มีการให้คำรับรองอย่างเป็นทางการ สำหรับถ้อยแถลงนโยบายการซื้อขายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสมาชิกโดยมีศูนย์ความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Regional Power Trade Coordination Committee หรือ RPTCC) ประสานการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าให้สำเร็จลุล่วง โดยในปัจจุบันมีการซื้อขายไฟฟ้าแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ (Bilateral Contract) และใช้ค่าความจุสายส่ง (Capacity) ส่วนที่เหลือของสายส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ดังที่ประเทศไทยได้มีการซื้อขายไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

รำลึก 100 ปี ดร บุญรอด2

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ระบบการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคดังกล่าวและเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึก 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร. บุญรอด บิณฑสันต์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันและพัฒนาโครงการในลุ่มแม่น้ำโขง

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการซื้อขายไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าในปริมาณ 7,000 เมกะวัตต์ โดยในปริมาณดังกล่าว มีการซื้อขายจริงแล้ว 3,087 เมกะวัตต์ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2,334 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความร่วมมือทางด้านพลังงานไฟฟ้ากับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการดำเนินการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยในอนาคต