25 April 2024


หอฯโคราชเต้น จี้จังหวัดเปิดประชุม กรอ.ด่วน ถกรับมือ รง.ปิดตัวลอยแพแรงงาน-ราคาสินค้าเกษตรตก

Post on: Aug 26, 2015
เปิดอ่าน: 1,273 ครั้ง

หอโคราชเต้น จี้จังหวัดเปิดประชุม กรอ.ด่วน ถกรับมือโรงงานปิดตัวลอยแพแรงงาน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ยอมรับภาวะเศรษฐกิจไม่ดี  โรงงานเริ่มทยอยปิดตัว  เชื่อเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี โรงงานที่แข่งขันไม่ได้ก็ปิดตัว แต่ก็ยังมีโรงงานใหม่เข้ามาเปิดอีก 10 แห่ง เม็ดเงินลงทุนเพิ่มมากกว่า 5 พันล้าน

นายหัสดิน web1

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา  เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี และตอนนี้มีข่าวไม่ดีออกมาต่อเนื่อง ซึ่งอัตราเร่งที่มองเห็นและมีแนวโน้มชัดเจนคือตลาดแรงงานที่เริ่มมีปัญหา เพราะว่าโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มปิดตัวมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่แข่งขันไม่ได้ แต่จะเห็นได้ว่าก็มียังโรงงานที่เปิดตัวใหม่เช่นกัน

ทั้งนี้จากตัวเลขของอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมารายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า   ในเดือน ก.ค. 2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมดจำนวน 2,645 โรงงาน เงินลงทุน 188,117.95 ล้านบาท คนงาน 146,516   คน  ซึ่งในเดือน ก.ค. 2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 2,659 โรงงาน เงินทุน 182,595.87 ล้านบาท คนงาน 146,904  คน

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว พบว่า เดือน ก.ค. 2558 มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมลดลง 14 โรงงาน คิดเป็น 0.53%  แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 5,522.08 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 3.02 % จำนวนคนงานลดลง 388 คน คิดเป็น 0.26 %

อีกทั้งในเดือน ก.ค. 2558 มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งใหม่ 10 โรงงาน เงินลงทุน 712 .57 ล้านบาท คนเงิน 330 คน ส่วนขณะที่เดือน ก.ค. 2557 มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งใหม่ 5 โรงงาน เงินลงทุน 213.71 บาทบาท คนงาน 149 คน

นายหัสดิน กล่าวว่า ถ้าดูจากตัวเลขข้างต้นจะพบว่า มีโรงงานลดลงจำนวน 14 โรงงาน  มีคนงานลดลง หรือว่างงาน  388 คน ถือว่าจำนวนไม่มาก แต่เงินลงทุนกลับเพิ่มขึ้นอีก 5,522 ล้านบาท ซึ่งต้องย้ำว่า โรงงานที่ปิดตัวไปนั้นเป็นโรงงานที่แข่งขันในตลาดไม่ได้จริง ๆ  ในขณะเดียวกันก็มีโรงงานใหม่ ที่มีเงินลงทุนสูงขึ้น  ตอนนี้เป็นช่วงการถ่ายโอนเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โรงงานเองก็กำลังปรับตัวเพราะโลกมีการแข่งขันสูงกันขึ้น

“แม้ว่าโคราชจะมีการปิดตัวของโรงงานไปถึง 25 แห่งในปีนี้แต่ก็มีโรงงานใหม่ ๆ เข้ามาทดแทน แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ เม็ดเงินลงทุนกลับสูงขึ้น ฉะนั้นเรามองว่าจังหวัดนครราชสีมายังเป็นฐานการลงทุนที่จะมีนักลงทุนเข้าไปจำนวนมากอยู่”

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้ทำหนังสือถึงสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา  (กรอ.นม.) โดยด่วน ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ โดยจะเสนอประเด็นใน 2 เรื่องหลักคือเรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับการปิดตัวของโรงงานบางโรงงาน เพราะถือว่าความเดือดร้อนของคนงานมีส่วนสำคัญ ซึ่งตนมองว่าจัดหางานจังหวัดจะต้องทำงานเชิงรุกโดยการจะต้องเข้าไปติดต่อกับโรงงานซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่ากำลังจะปิดตัวตามที่ประกาศ จะต้องมองว่าคนงานเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อ และโรงงานที่สร้างใหม่ที่ต้องการแรงงาน จะต้องเอาแรงงานเข้าไปรองรับเลย เป็นการทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ว่าปิดตัวแล้วให้คนงานไปแจ้งการว่างงานแล้วค่อยไปหาบริษัทใหม่ให้เหมือนที่ผ่านมา แต่จากนี้ไปจะต้องทำงานเชิงรุกว่าโรงงานใหม่ที่ต้องการแรงงานจำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้แรงงานไม่มีเวลาต้องตกงาน และต้องไปใช้เงินเก่า ไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบมาใช้

ส่วนข้อที่ 2 ที่ต้องการให้ กรอ. หารือกัน คือเรื่องสินค้าเกษตรต้องยอมรับว่า ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร ที่จะได้ผลผลิตน้อยลงกว่าทุกปี หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้าไปพยุงราคาสินค้าเกษตรก็อาจจะทำให้กำลังซื้อของเกษตรกร โดยเฉพาะรากหญ้าต่ำลง  ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงอยากเรียกร้องไปทางเกษตรจังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้รายงานภาพรวมของผลผลิตทางการเกษตรว่าจะลดลงมากน้อยไหน และราคามีแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เพื่อทำงานร่วมกันในเชิงรุก หากมีปัญหาก็จะได้สรุปและนำเสนอต่อไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการช่วยเหลือ นายหัสดิน กล่าว