19 April 2024


เจาะสนามเลือกตั้ง ส.ส.โคราช โค้งสุดท้าย

Post on: May 11, 2023
เปิดอ่าน: 148 ครั้ง

เจาะสนามเลือกตั้ง ส.ส.โคราช 4 พรรคการเมือง เพื่อไทย ชาติพัฒนากล้า พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย ชิงที่นั่ง 16 เขต คาดพรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส. 9 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนากล้า 4 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 2 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง

สนามเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช นับเป็นสนามเลือกตั้งใหญ่ และเป็นเป้าหมายของหลายพรรคการเมือง เพราะมีที่นั่ง ส.ส.มากถึง 16 เก้าอี้ เป็นรองแค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น โดยคอการเมืองได้วิเคราะห์เห็นตรงกันว่า 16 เขตเลือกตั้ง พรรคไหนบ้างจะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งดังนี้

เขตเลือกตั้งที่ 1

ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครราชสีมา เฉพาะ ต.ในเมือง ต.โพธิ์กลาง และ ต.หนองไผ่ล้อม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 161,693 คน แชมป์เก่า พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายเกษม ศุภรานนท์ เจ้าของเก้าอี้ ส.ส.เขตนี้มาป้องกันแชมป์ โดยมีฐานเสียงหลักเป็นข้าราชการครู ทหาร และชุมชนรอบค่ายทหาร

พรรคเพื่อไทย ส่ง ร.ต.อ.สุปชัย อินทรักษา อดีตรองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และอดีตนายก เทศมนตรีตำบลปรุใหญ่ อ.เมืองนครราชสีมา ลงชิงเก้าอี้ โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดง และบรรดาผู้สนับสนุนในชุมชนในเขตเมืองนครราชสีมาเป็นฐานเสียงหลัก

พรรคก้าวไกล ส่ง นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ซึ่งมีฐานเสียงหลักเป็นกลุ่มนักธุรกิจ คหบดี และกลุ่มเยาวชนนักศึกษาที่ชื่นชอบพรรคก้าวไกลเป็นฐานเสียงที่สำคัญ พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายอนันต์ อาบสุวรรณ นักธุรกิจด้านอาหาร และการขนส่ง ลงชิงชัย โดยมีฐานเสียงหลักเป็นพ่อค้าคหบดีในพื้นที่

พรรคชาติพัฒนากล้า ส่ง นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคชาติพัฒนากล้า น้องชาย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ลงชิงชัยเพื่อหวังทวงเก้าอี้ ส.ส.ในเขตนี้คืน โดยฐานเสียงหลักอยู่ในชุมชนเขตเทศบาลนครนครราชสีมา และมีสมาชิกสภาเทศบาลนครนครราชสีมาคอยเป็นแรงหนุน

คอการเมืองฟันธงว่า เขตเลือกตั้งที่ 1 โคราช เป็นศึกช้างชนช้างอย่างแท้จริง โดยเฉพาะพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ส่ง นายเทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชายนายสุวัจน์ ยึดเอาเขตนี้เป็นเมืองหลวงของพรรคชาติพัฒนากล้า

สุดท้าย เชื่อว่าน่าจะเบียดกับ ร.ต.อ.สุปชัย จากพรรคเพื่อไทย และนายฉัตร จากพรรคก้าวไกล แบบหายใจรดต้นคอ แต่อย่างไรก็ยังประมาทแชมป์เก่าอย่าง นายเกษม ศุภรานนท์ จากพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เช่นกัน

เขตเลือกตั้งที่ 2

คืออำเภอเมืองนครราชสีมา เฉพาะ ต.โคกสูง ต.บ้านโพธิ์ ต.ตลาด ต.หนองไข่น้ำ ต.บ้านเกาะ ต.พะเนา ต.มะเริง ต.หนองบัวศาลา ต.หนองระเวียง ต.หัวทะเล และ ต.จอหอ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 167,149 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นายสมโภชน์ ปราสาทไทย แกนนำคนเสื้อแดงอำเภอเมืองโคราชลงสนาม โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงใน 11 ตำบลของ อ.เมืองนครราชสีมา เป็นฐานเสียงหลัก

ขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้า ส่ง นายวัชรพล โตมรศักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และเป็นเเชมป์เก่าครองเก้าอี้ ส.ส.เขตนี้มาแล้ว 5 สมัย ลงป้องกันแชมป์ โดยมีฐานเสียงเป็นนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มสตรีแม่บ้าน และ อสม.เป็นฐานเสียงหลัก ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายประพิศ นวมโคกสูง อดีตข้าราชการครู และลงสนามแข่งขันมาแล้วหลายครั้งลงสู้ศึก โดยมีฐานเสียงหลักเป็นข้าราชการครู และผู้นำชุมชนบางส่วน ซึ่งเขตนี้ฟันธงว่า นายวัชรพล จากพรรคชาติพัฒนากล้า จะสามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้อีกสมัย

เขตเลือกตั้งที่ 3

อำเภอเมืองนครราชสีมา เฉพาะ ต.โคกกรวด ต.ปรุใหญ่ ต.หนองจะบก ต.สุรนารี ต.หมื่นไวย ต.บ้านใหม่ ต.ไชยมงคล ต.หนองกระทุ่ม ต.พลกรัง ต.พุดซา และ ต.สีมุม และอำเภอโนนไทย เฉพาะ ต.ด่านจาก ต.กำปัง และ ต.สำโรง จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 164,200 คน

พรรคเพื่อไทย ส่ง นายวัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ นักธุรกิจเจ้าของตลาดสดชื่อดังเมืองโคราชลงชิงเก้าอี้ โดยมีฐานเสียงหลักเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า แม่ค้า และผู้นำชุมชนบางส่วนในพื้นที่ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่งนายวีระวัฒน์ มิตรสูงเนิน อดีตประธานสภา อบจ.นครราชสีมา มีฐานเสียงหลักเป็นนักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในพื้นที่

ด้านพรรคชาติพัฒนากล้า ส่ง นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา หรือกำนันเบ้า นักการเมืองท้องถิ่นผู้กว้างขวาง ซึ่งเป็นพี่เขยของนายวีระวัฒน์ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเขตเลือกตั้งนี้ถือเป็นเขตช้างชนช้างอีกหนึ่งเขต และสุดท้าย นายสมศักดิ์ จากชาติพัฒนากล้า มีสิทธิลุ้นนั่งเก้าอี้ ส.ส.เขต 3 มาครองได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันก็ไม่ควรประมาท ผศ.ดร.พงศพัฒน์ จิตตานุรักษ์ หรือ ดร.แจ๊ค จากพรรคภูมิใจไทย ที่ขยันลงพื้นที่ไม่แพ้ใคร ที่อาจจะเป็นตาอยู่คว้าพุงเพียว ๆ ไปกินก็ได้

เขตเลือกตั้งที่ 4

ประกอบด้วย อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.โนนไทย ยกเว้น ต.ด่านจาก ต.กำปัง และ ต.สำโรง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 160,331 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นางสาวณัฐจิรา อิ่มวิเศษ หลานสาวของ นายบุญมา อิ่มวิเศษ เจ้าของธุรกิจเครือสตาร์เวลล์ ลงชิงเก้าอี้ โดยมีฐานเสียงหลักเป็นนักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชนในพื้นที่

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นายสุธรรม พรสันเทียะ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งครอบครัวเคยใกล้ชิดกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเคยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย มาแล้วหลายสมัย แต่ครั้งนี้ย้ายพรรคเพราะไม่มีที่ให้ลง จึงมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

ด้านพรรคชาติพัฒนากล้า ส่ง นายสมบัติ กาญจนวัฒนา อดีตประธานสภา อบจ.นครราชสีมา และเป็นน้องชาย นายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา นักการเมืองท้องถิ่นผู้กว้างขวางในพื้นที่ ซึ่งนายสมบัติหาเสียงในเขตนี้มานาน มีฐานเสียงจากนักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชนอย่างเหนียวแน่น เขตนี้นักวิเคราะห์การเมืองฟันธงว่า นายสมบัติ จะสามารถแจ้งเกิดได้ โดยจะเบียดกับ ณัฐจิรา จากพรรคเพื่อไทย

เขตเลือกตั้งที่ 5

ประกอบด้วย อ.โนนสูง อ.เฉลิมพระเกียรติ ยกเว้น ต.พระพุทธ ต.หนองยาง และ ต.หนองงูเหลือม อำเภอพิมาย เฉพาะ ต.ชีวาน ต.สัมฤทธิ์ ต.กระเบื้องใหญ่ และ ต.ท่าหลวง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 163,114 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา เด็กในคาถาของกำนันป้อ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม เจ้าของโรงแป้งมันเอี่ยมเฮง สมเกียรติ เป็นนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานราชการรายใหญ่ของโคราช ลงชิงเก้าอี้โดยมีฐานเสียงจากนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน แต่ยังต้องเจอศึกหนัก

โดยแชมป์เก่า พรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ แกนนำคนสำคัญของพรรค ส่งลูกชาย คือ นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ลงป้องกันแชมป์ โดยมีฐานเสียงหลักเป็นผู้นำชุมชน ข้าราชการ และพ่อค้า คหบดีในพื้นที่ ส่วนพรรคภูมิใจไทย ส่ง นายจักรกฤช ผาสุขมูล ลงชิงชัย และพรรคชาติพัฒนากล้า ส่ง นายปิยเมษฐ ประณีตพลกรัง ชิงเก้าอี้ ซึ่งเขตนี้ฟันธงว่า นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ เจ้าของแชมป์จากพลังประชารัฐ จะเบียดกับ สมเกียรติ ตันดิลกตระกูล จากพรรคเพื่อไทยอย่างสนุก

เขตเลือกตั้งที่ 6

อ.บัวใหญ่ อ.แก้งสนามนาง อ.สีดา และ อ.บัวลาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 164,491 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นายโกศล ปัทมะ แชมป์เก่าหลายสมัย ซึ่งเป็นน้องชายของ นายนภดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ รัฐบาลทักษิณ ลงรักษาที่นั่ง โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดง และผู้นำชุมชนเป็นฐานเสียงหลัก ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นางอรทัย พลวิเศษ ลงสู้ศึก ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองยังมั่นใจว่า โกศล ปัทมะ จะเข้าป้ายเช่นเคย

เขตเลือกตั้งที่ 7

อ.ประทาย อ.โนนแดง อ.ลำทะเมนชัย และ อ.เมืองยาง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 162,007 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นางสาวปิยะนุช ยินดีสุข ส.จ.นครราชสีมา เขต อ.ลำทะเมนชัย ลงชิงเก้าอี้ โดยมีฐานเสียงเป็นผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มสตรีแม่บ้าน ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่งแชมป์เก่า นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ภรรยาของ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ลงป้องกันแชมป์

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายพีรพร สุวรรณฉวี ลูกชาย ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี และ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา ลงสู้ศึก ฟันธงว่าเขตนี้เป็นการเบียดกันแบบสูสีระหว่าง ปิยะนุช จากเพื่อไทย และ ทัศนียา จากพลังประชารัฐ

เขตเลือกตั้งที่ 8

อำเภอพิมาย ยกเว้น ต.สัมฤทธิ์ ต.ชีวาน ต.กระเบื้องใหญ่ และ ต.ท่าหลวง อำเภอชุมพวง ยกเว้น ต.โนนตูม และ ต.ตลาดไทร ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 163,938 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นายนิกร โสมกลาง เลขานุการนายก อบจ.นครราชสีมา ลงชิงเก้าอี้ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่ง นางอรัชมน รัตนเศรษฐ ภรรยาของ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ลงสู้ศึก เขตเลือกตั้งนี้ถือเป็นการเบียดกันระหว่าง อรัชมน รัตนเศรษฐ จากพลังประชารัฐ และนิกร โสมกลาง จากเพื่อไทย

เขตเลือกตั้งที่ 9

อ.ห้วยแถลง อ.จักราช และ อ.ชุมพวง เฉพาะ ต.โนนตูม และ ต.ตลาดไทร ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 167,109 คน พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายพลพีร์ สุวรรณฉวี เลขานุการ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และเป็นลูกชายคนโตของ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี และ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา ลงชิงเก้าอี้ ขณะที่พรรคเพื่อไทย ส่ง นายธีระยุทธ ตันติกุล นักธุรกิจเจ้าของปั๊มแก๊สหลายแห่ง โดยมีฐานเสียงจากกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นหลัก และนักธุรกิจคอยสนับสนุน

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ส่ง นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ น้องภรรยา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ลงป้องกันแชมป์เพื่อรักษาเก้าอี้ โดยเขตนี้เป็นการเบียดกันระหว่าง ทัศนาพร จากพลังประชารัฐ และธีระยุทธ จากเพื่อไทย โดยมี พลพีร์ จากภูมิใจไทย เป็นตัวสอดแทรก

เขตเลือกตั้งที่ 10

อ.โชคชัย อ.ครบุรี ยกเว้น ต.มาบตะโกเอน ต.ตะแบกบาน ต.ลำเพียก ต.โคกกระชาย และ ต.สระว่านพระยา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ เฉพาะ ต.หนองงูเหลือม ต.พระพุทธ และ ต.หนองยาง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 168,115 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นายอภิชา เลิศพชรกมล ลงป้องกันแชมป์ หลังจากย้ายจากพรรคภูมิใจไทย มาสังกัดพรรคเพื่อไทย ตามลูกพี่ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีต รมช.มหาดไทย ลงท้าชิง ซึ่งเขตนี้ บุญจง หวังแจ้งเกิดอีกครั้ง แต่งานนี้ มองว่า อภิชา จากพรรคเพื่อไทย จะรักษาแชมป์ไว้ได้ แต่ก็ประมาท บุญจง จากภูมิใจไทย ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

เขตเลือกตั้งที่ 11

อ.หนองบุญมาก อ.เสิงสาง และ อ.ครบุรี เฉพาะ ต.มาบตะโกเอน ต.ตะแบกบาน ต.ลำเพียก ต.โคกกระชาย และ ต.สระว่านพระยา ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 164,948 คน พรรคเพื่อไทย ส่ง นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล บุตรชายกำนันป้อ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต รมช.คมนาคม ลงชิงเก้าอี้

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ส่ง พันตำรวจเอกปริวัฒน์ นาคำ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหลายแห่งลงชิงชัย และพรรคภูมิใจไทย ส่ง นายพรชัย อำนวยทรัพย์ ลงป้องกันแชมป์ เขตเลือกตั้งนี้ กำนันป้อ วีรศักดิ์ ต้องการให้ลูกชายเป็น ส.ส. และเชื่อว่าจะสมหวังในที่สุด

เขตเลือกตั้งที่ 12

อ.ปักธงชัย และ อ.วังน้ำเขียว ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 161,245 คน พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ที่ย้ายมาจากพลังประชารัฐลงรักษาแชมป์ แต่ต้องเจอศึกหนักเมื่อพรรคเพื่อไทยส่ง นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล รองนายก อบจ.นครราชสีมา หลานกำนันป้อ วีรศักดิ์ ลงท้าชิง โดยฐานเสียงจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายประนอม โพธิ์คำ อดีต ส.ส.ลงชิงเก้าอี้ โดยเขตนี้จะเป็นการแย่งเก้าอี้กันระหว่างแชมป์เก่า สมศักดิ์ พันธุ์เกษม จากภูมิใจไทย และ นรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล จากเพื่อไทย

เขตเลือกตั้งที่ 13

อ.สีคิ้ว และ อ.ปากช่อง เฉพาะ ต.วังไทร ต.คลองม่วง ต.วังกระทะ และ ต.โป่งตาลอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 160,839 คน เขตนี้เดิมเก้าอี้ ส.ส.เป็นของ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แต่ครั้งนี้ ประเสริฐ ขึ้นไปสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ดันลูกชาย นายพชร จันทรรวงทอง ลงสมัครแทน โดยมีคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐ นายสุกฤษณ์ วัชรมาลีกุล และพรรคชาติพัฒนากล้า นายวรพจน์ บุญจันทึก แต่เลขาธิการพรรคเพื่อไทยมั่นใจพาลูกชายสุดรักเข้าสภาได้อย่างแน่นอน

เขตเลือกตั้งที่ 14

อ.ปากช่อง ยกเว้น ต.วังไทร ต.คลองม่วง ต.วังกระทะ และ ต.โป่งตาลอง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 159,332 คน สนามเลือกตั้งเขตนี้ นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ จากพรรคเพื่อไทย เป็นแชมป์เก่ามาหลายสมัย แต่ครั้งนี้ต้องเจอคู่แข่งทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ นายวิรัตน์ วาริชอลังการ และพรรคภูมิใจไทย นายมานิตย์ จันทรวราภร แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ โดยมี มานิตย์ จันทรวราภร จากภูมิใจไทย เป็นตัวสอดแทรก

เขตเลือกตั้งที่ 15

อ.ด่านขุนทด อ.เทพารักษ์ และ อ.พระทองคำ เฉพาะ ต.ทัพรั้ง และ ต.มาบกราด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 169,957 คน สนามเลือกตั้งเขตนี้ พรรคภูมิใจไทย ส่ง นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ แชมป์เก่า มีฐานเสียงจากผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มแม่บ้าน แต่มีคู่แข่งสำคัญจากสองพรรคการเมือง คือ นายรชตะ ด่านกุล จากเพื่อไทย และนายพจน์ เจริญสันเทียะ จากพลังประชารัฐ แต่คอการเมืองวิเคราะห์ว่า เขตเลือกตั้งนี้จะเป็นการชิงกันระหว่าง วิสิทธิ์ จากภูมิใจไทย และ พจน์ จากพลังประชารัฐ

เขตเลือกตั้งที่ 16

อ.คง อ.ขามสะแกแสง อ.บ้านเหลื่อม และ อ.พระทองคำ ยกเว้น ต.ทัพรั้ง และ ต.มาบกราด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 166,671 คน สนามเลือกตั้งเขตนี้เดิมเก้าอี้ ส.ส.เป็นของพรรคเพื่อไทย นายสุชาติ ภิญโญ แต่เลือกตั้งครั้งนี้ สุชาติ ย้ายไปซบภูมิใจไทย

โดยมีคู่แข่งสำคัญจากพรรคเพื่อไทย นายพรเทพ ศิริโรจนกุล ส.จ.นครราชสีมา และเป็นหลานกำนันป้อ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส่งลูกชายคนเล็ก นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ลงแข่งขันในสนามนี้ด้วย และจะเป็นการเบียดแย่งเก้าอี้กันระหว่าง สุชาติ ภิญโญ จากภูมิใจไทย ตติรัฐ รัตนเศรษฐ จากพลังประชารัฐ และ พรเทพ ศิริโรจนกุล จากเพื่อไทย

ทั้งนี้ คอการเมืองได้วิเคราะห์ และคาดคะเนผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 16 เขตเลือกตั้ง คาดว่า พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวน ส.ส. 9 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนากล้า 4 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 2 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง