24 April 2024


โคราชเนื้อหอม!BACทุ่ม1,500ล.ผุดโรงเรียนการบินแห่งใหญ่สุดในไทยวางเป้าผลิตนักบินอันดับ 1 ของโลก(มีคลิป)

Post on: Jan 21, 2017
เปิดอ่าน: 6,949 ครั้ง

 

โคราชเนื้อหอม! บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ ทุ่ม 1,500 ล้าน ผุดโรงเรียนการบินแห่งใหญ่สุดในประเทศ “BAC  Academy”ผลิตนักบินพาณิชย์ป้อนอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกปีละ 300 คน  พร้อมตอกเสาเข็ม ก.พ.นี้บนพื้นที่ 15 ไร่ปากทางเข้าสนามบินโคราช คาดอีก 1 ปีเปิดสอน หวังพัฒนาเป็นโรงเรียนการบินอันดับ 1 ของโลก มุ่งผลิตนักบินต่างชาติ เผยทำเอ็มโอยูกับสถาบันศึกษาโคราชส่งนักศึกษาฝึกเป็นช่างซ่อมเครื่องบิน 150 คน ด้านจังหวัดขานรับ พร้อมประสานแก้ปัญหาเช่าที่ดินกรมป่าไม้  เชื่อทำโคราชเติบโตสอดรับกับโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีกมากในปี 60

โรงเรียนการบิน-web4

ที่ห้องประชุมอินทนากรวิวัฒน์ ชั้น 4 หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายมธุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายหัสดิน  สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และ นาอากาศโท (น.ท.)ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) ร่วมกันแถลงข่าว  การเปิดโรงเรียนสอนการบินแห่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC)  เปิดเผยว่า  BAC  เป็นโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2545 ตั้งอยู่ที่ จ.นครนายก บนพื้นที่ 120 ไร่ และได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการและกรมการบินพลเรือน BAC เปิดสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (CPL Course), หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (PPL Course), หลักสูตรการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน (IR Course), หลักสูตรการบินด้วยเครื่องบินสองเครื่องยนต์ (MR Course), หลักสูตรครูการบิน (IP Course) รวมไปถึงหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก (ATPL Knowledge) มีกำลังการผลิตนักบินถึงปีละ 200-300 คน มีมาตรฐานและความพร้อมในทุกๆด้านการฝึก ทั้งพื้นที่การฝึกเครื่องบิน และบุคลากรการบินที่ได้ลงนามร่วมกับกองทัพอากาศเรียบร้อยแล้ว จนถึงขณะนี้ โรงเรียนการบินของบริษัทฯ ผลิตนักบิน CPL ป้อนอุตสาหกรรมการบิน แล้วร่วม 2,000 คน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากโรงเรียนการบินที่สหรัฐอเมริกา  ปัจจุบัน BAC มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในไทย และยังมีแผนการขยายตัวไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย

ผุดโรงเรียนการบิน-web1

ผุดโรงเรียนการบิน-web2

น.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า  BACได้ผลิตนักบินพาณิชย์ให้กับสายการบินระดับชาติหลายสายการบิน ทั้งไทยแอร์เอเชีย การบินไทย และไทยสมายล์  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าสังกัดมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกบินด้วย  โดย BAC วางเป้าหมายในการเป็นสถาบันอันดับหนึ่งในการผลิตนักบินสู่ตลาดโลก ปัจจุบันการรองรับปริมาณการเจรจาทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สายการบินต่างๆ ต้องสั่งซื้อเครื่องบินและเพิ่มเที่ยวบินในการให้บริการมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการนักบินยิ่งสูงมากขึ้นด้วย จากรายงานของ Boeing เรื่อง Current Market Outlook 2016-2035 ถึงสถานการณ์ความขาดแคลนนักบินทั่วโลก  โดยทั่วโลกมีความต้องการนักบินถึง 617,000 คน ภายใน 20 ปีข้างหน้า เฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความต้องการสูงที่สุดถึง 248,000 คน

ฉะนั้นเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการฝึกนักบินให้เหมาะสมกับความต้องการนักบินที่เพิ่มขึ้น BAC จึงมีแผนการสร้างโครงการ “BAC Academy” (จ.นครราชสีมา) อยู่บนเนื้อที่ 15 ไร่ บริเวณปากทางเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา อยู่ห่างจากท่าอากาศยานนคราชสีมา ประมาณ 5 กิโลเมตร ทำให้สะดวกในการเดินทางระหว่างสนามบินและ Academy ซึ่งภายใน Academy จะประกอบไปด้วยห้องเรียน, หอพัก 2 อาคาร รวม 200 ห้อง , ห้องประชุม, ศูนย์กีฬา และพื้นที่สันทนาการที่มีความทันสมัย  โดย BAC จะมีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง 1 ลูกสูบ 1 ใบพัด รุ่น เซสน่า 172 มาใช้ในการเรียนการสอนอีก 60 ลำ  สร้างลานจอด โรงซ่อมบำรุงเครื่องบินขนาด 8 ลำ ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในสนามบินนครราชสีมาซึ่งต้องทำการเช่าพื้นที่ขณะนี้ยังติดปัญหาอยู่  ทั้งหมดจะใช้เม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 1,500 ล้านบาท

นท ปิยะ-web1

ผุดโรงเรียนการบิน-web3

“ขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่ในส่วนของ Academy เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะตอกเสาเข็มและเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือน ก.พ.นี้ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี จากนั้นจะเปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักบินออกสู่ตลาด  โดยสามารถผลิตนักบินได้เต็มความสามารถปีละประมาณ 450 คนถือเป็นโรงเรียนการบินแห่งใหญ่ที่สุดในโลก  เบื้องต้นในปีแรกจะผลิตให้ได้ 250-300 คน โดยมีเป้าหมายฝึกนักบินต่างชาติเป็นหลักด้วย

น.ท.ปิยะ  กล่าวอีกว่า  ปัจจัยหลักที่ทำให้ BAC ตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจาก สนามบินนครราชสีมาถือเป็นสนามบินที่ใกล้ที่สุด เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ และการเดินทางของผู้มาเรียนก็สะดวกลดเวลาการเดินทางลงไปได้ และโครงสร้างพื้นฐาน (Infranstructure)ทั้งหมดของสนามบินโคราชถือว่ามีความพร้อมมากที่สุดในมุมมองของประชาชนทั่วไปอาจจะมองว่าตั้งอยู่ไกล  แต่มุมมองของโรงเรียนการบินและผู้ที่ทำการบินทางอากาศ มองว่าไม่ไกลและไม่แพ้ใครด้วยความได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ที่มีมากถึง 4,000 ไร่บนพื้นที่ของป่าไม้กว่า 40,000 ไร่มีรันเวย์ที่มีความยาวถึง 2,000 เมตรและสารมารถขยายได้อีก ความกว้างถึง 80 เมตรและมีไหล่ทางด้วย ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล สามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ลงได้ และที่สำคัญคือเครื่องช่วยเดินอากาศ มีความพร้อมอย่างมากและเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก ซึ่งวิทยุการบินได้ลงทุนในเรื่องนี้เป็น1,000 ล้านบาทแต่ที่ผ่านมาอาจจะใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ  โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BAC ได้ นักบินมาฝึกบินที่สนามบินนครราชสีมาปีละไม่น้อยกว่า 50-80 รายนำเครื่องบินมาฝึกที่นี่ 10-15 ลำ

สำหรับโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.นครราชสีมาได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก BAC มุ่งเน้นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้น ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่างซ่อมอากาศยานโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดในการส่งนักศึกษาเข้ามาเป็นช่างซ่อมบำรุง   โดย BAC ต้องการทีมช่างมากกว่า 150 คน เพื่อรองรับการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินจำนวน 40-60 ลำ ซึ่งช่างอากาศยานสามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวไปขอรับใบอนุญาตและต่อยอดขีดความสามารถในการซ่อมเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ในลำดับต่อไป นอกจากนี้โครงการ “BAC Academy” (จ.นครราชสีมา) จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่จังหวัด เนื่องจากศิษย์การบินและครูการบินจำนวนกว่า 300 คน จะใช้ชีวิตอยู่ใน จ.นครราชสีมา ซึ่งจะต้องมีการจับจ่ายใช้สอยและจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่และยิ่งกว่านั้นในอนาคตจะเป็นการเพิ่มดุลการค้าให้แก่ประเทศไทยได้ทางหนึ่ง เนื่องจาก BAC จะขยายตลาดการฝึกนักบินต่างชาติต่อไป  ขณะนี้ทางบริษัทฯ กำลังทำตลาดกับจีนเพื่อผลิตนักบินจีนป้อนตลาดการบินด้วย

ผุดโรงเรียนการบิน4

ด้านนาย มธุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หากโครงการโรงเรียนการบินเกิดขึ้นจะส่งเสริมให้จังหวัดนครราชสีมาเติบโตอย่างมากในทุกด้าน แต่ขณะนี้ทราบว่ายังติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อทำลานจอดเครื่องบินซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานของทางราชการโดยเฉพาะป่าไม้ ได้รายงานให้นายวิเชียร  จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาทราบแล้ว ทางจังหวัดพร้อมที่จะหาแนวทางในการแก้ไขดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและการสั่งซื้อเครื่องบิน หากแก้ไขปัญหาได้เร็วทุกย่างก็จะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่จังหวัดนครราชสีมาจะได้จากการเข้ามาตั้งโรงเรียนการบินครั้งนี้ คือเราจะเป็นศูนย์ฝึกการบินรายใหญ่ระดับโลก และ ลูกหลานจะได้เข้าเรียนหรือฝึกงานด้านช่างซึ่งมีผลตอบแทนที่สูง และจะทำให้กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเหล่านี้เกิดขึ้นตามมาอีก

นายมธุรธาธีร์  กล่าวว่า ในปีนี้จะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายโครงการในจังหวัดนครราชสีมา  นอกจากโรงเรียนการบินแห่งใหญ่ระดับโลกแล้วจะมีโครงการ มอร์เตอร์เวย์  โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์หลายโครงการทั้งเรื่องการพัฒนาเส้นทางลอจีสติก ,การท่องเที่ยว และแหล่งน้ำ ภายใต้งบประมาณ  5,000 ล้านบาท ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

โรงเรียนการบิน-web1

โรงเรียนการบิน-web2

โรงเรียนการบิน-web3

โรงเรียนการบิน-web4

โรงเรียนการบิน-web5

โรงเรียนการบิน-web6

โรงเรียนการบิน-web7

โรงเรียนการบิน-web8

โรงเรียนการบิน-web9

โรงเรียนการบิน-web10

โรงเรียนการบิน-web11

โรงเรียนการบิน-web12 โรงเรียนการบิน-web13 โรงเรียนการบิน-web14