25 April 2024


มทส.ส่งมอบช่อดอกกัญชา-กัญชงแห้งให้กรมการแพทย์แผนไทยฯใช้ผลิตยาแผนไทย พร้อมขยายโรงเรือนกว่า70 โรง

Post on: Mar 16, 2022
เปิดอ่าน: 666 ครั้ง

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ส่งมอบช่อดอกกัญชา-กัญชงแห้ง กว่า 100 กิโลกรัม  ให้กรมการแพทย์ แผนไทยฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามกระบวนการผลิตยาแผนไทย 2 ตำรับ พร้อมเปิดคลังวัตถุดิบกลางเก็บผลผลิต และเปิดพื้นที่ 28 ไร่ ขยายโรงเรือนปลูกมาตราฐาน 70 โรง รองรับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนรายใหญ่และรายย่อยจาก ทั่วประเทศที่มีความร่วมมือเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกัญชาจาก มทส. อย่างครบวงจรแห่งแรกของประเทศ

วันนี้  (16 มีนาคม 65)  ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการรับมอบ“ช่อดอกกัญชาพันธุ์ (THC) 100 กิโลกรัมแห้ง และช่อดอกกัญชง(CBD) 10 กิโลกรัมแห้ง” จากมหาวิทยาลัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ชัย จิตตะมัย รองอธิการบดีฝ่ายการเงิน ทรัพย์สิน และวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยี การเกษตร มทส. และคณะ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์” ทำการส่งมอบ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปผลิตยาแผนไทย 2 ตำรับ คือ ผลิตน้ำมันตำรับเมตตาโอสถ และตำรับการุณย์โอสถ ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงาน พร้อมนำคณะเข้าตรวจเยี่ยมโรงเรือนปลูกกัญชา-กัญชา ต้นแบบ มทส.  ชมกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีกัญชาตั้งแต่กระบวนการคัดแยกสายพันธุ์ การเพาะกล้า การปลูก บำรุงรักษา และเก็บเกี่ยวดูแลผลิตผล รวมทั้งการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิจัย พัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีกัญชาครบวงจรขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทยขณะนี้

ทั้งนี้คณะอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่มีความร่วมมือ ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่โรงเรือนแปลงปลูกกัญชา-กัญชง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดสรรพื้นที่ขนาด 28 ไร่ รองรับการขยายตัวภาคีวิสาหกิจขุมชน  โดยระยะแรก ได้สร้างโรงเรือนปลูกกัญชา-กัญชง ระบบมาตรฐาน จำนวน 30 โรงเรือน ซึ่งแต่ละโรงเรือนสามารถปลูกต้นกัญชา-กัญชง แบ่งเป็นกัญชา 200 ต้นต่อโรง และกัญชง 240 ต้นต่อโรง พร้อมเปิดคลังวัตถุดิบกลางเพื่อเก็บผลผลิต มีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จำนวน 14 เครือข่าย ทำความร่วมมือในการเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกัญชา-กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์  และในอนาคตระยะที่สอง คาดว่าจะทำการขยายโรงเรือนเป็น 100 โรง เพื่อรับรองภาคีวิสาหกิจรายย่อย ภายใต้การประสานงานความร่วมมือโดยศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม (ICC) ซึ่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการเป็นผู้ประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ