20 April 2024


ชู “ข้าวโพดแปดแถวราชบุรี” สุดยอดพืชเกษตรภูมิปัญญาท้องถิ่น เร่งต่อยอดเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เกษตรกร

Post on: Jul 28, 2021
เปิดอ่าน: 590 ครั้ง

 

สสก.2 ราชบุรี ชู“ข้าวโพดแปดแถวราชบุรี” สุดยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรที่โดดเด่นและมีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เร่งถอดบทเรียน ค้นหาแนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนรวมทุกภาคส่วนในการเก็บรักษา พัฒนา และต่อยอด หวังสร้างคุณค่าและรายได้จากสินค้า และบริการอัตลักษณ์ของชุมชน เผยข้าวโพดแปดแถวราชบุรีมีประวัติยาวนาน เกษตรกรใช้ภูมิปัญญารักษาพันธุ์ไว้  ระบุเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เกษตรกรชาว อ.โพธารามปีละกว่า 1.7 ล้านบาท

นางธัญธิตา   บุญญามณีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2  (สสก.2) จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรให้มีความสมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และสะดวกต่อการใช้งาน สามารถนำไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเกษตรเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์พื้นถิ่น

“ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของเกษตรกรและการประกอบอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่อดีตและยังคงมีการใช้ประโยชน์จนถึงปัจจุบัน เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อปรับใช้ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเริ่มมีการสูญหายตามกาลเวลา เนื่องจากขาดผู้สืบทอด ไม่มีผู้นำกลับมาใช้ประโยชน์ และมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดแทนเพื่อให้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรคงอยู่ และมีการนำประยุกต์และผสมผสานพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการเกษตร ทางสำนักงานฯ จึงได้เข้าไปดำเนินการโครงการดังกล่าว” นางธัญธิตา กล่าว

นางธัญธิตา  กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินโครงการนี้ เริ่มต้นจากสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรอย่างน้อย 1 ภูมิปัญญา จากนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัดในพื้นที่ความรับผิดชอบได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจังหวัดสุพรรณบุรี พิจารณาคัดเลือกภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรที่โดดเด่นและมีความเป็นเอกลักษณ์จังหวัดละ 1 ภูมิปัญญา รวมเป็น 8 ภูมิปัญญา เพื่อให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 3 ภูมิปัญญา จากนั้นคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 ภูมิปัญญา เพื่อเป็นจุดนำร่องดำเนินการถอดบทเรียน ค้นหาแนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนรวมทุกภาคส่วนในการเก็บรักษา พัฒนา และต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าและรายได้จากสินค้า และบริการอัตลักษณ์ของชุมชน

ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้ร่วมกับกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร พิจารณาคัดเลือก ภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง การอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวโพดแปดแถวของจังหวัดราชบุรี เป็นจุดนำร่องของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีประวัติความเป็นมา จุดเด่น เอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะพื้นที่ และความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร

นางธัญธิตา กล่าวต่อว่า ตำบลคลองตาคต และตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีการปลูกข้าวโพดรับประทานฝักสดมาอย่างยาวนาน เนื่องด้วยมีสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบและราบลุ่ม มีแหล่งน้ำเพียงพอ สภาพดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย และดินร่วนเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดี เกษตรกรจึงนิยมปลูกข้าวโพดรับประทานฝักสดกันมาก โดยเริ่มแรกเกษตรกรมีการปลูกข้าวโพดเทียนพันธุ์พื้นเมือง แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปเนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดพันธุ์แปดแถวแทน  ซึ่งพันธุ์ข้าวโพดแปดแถวนี้ได้มาจากเกษตรกรในตำบลคลองตาคต คือ นายดำรง มินทนนท์ หรือลุงดำ ที่ได้พันธุ์มาจากเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อ 30 ปีก่อน จึงนำมาปลูกครั้งแรกในพื้นที่อำเภอโพธาราม และนำออกมาต้มขายที่หน้าวัดโบสถ์ ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะถูกใจในรสชาติความอร่อยของข้าวโพดพันธุ์นี้ ซึ่งลักษณะเด่นของข้าวโพดแปดแถวนั้น จะมีขนาดฝักเล็ก  มีเมล็ดเรียงตัวแน่น 8 แถว เมล็ดมีสีขาว มีความนุ่มและเหนียว รสชาติหวานเล็กน้อย กลิ่นหอม เมื่อรับประทานจะไม่ติดฟัน เกษตรกรในพื้นที่จึงหันมาปลูกกันอย่างแพร่หลาย แต่ด้วยพันธุ์ข้าวโพดแปดแถวมีความอ่อนแอต่อโรคราน้ำค้างหรือโรคใบลายและสภาพภูมิอากาศมาก ทำให้ข้าวโพดฟันหลอ เมล็ดไม่ติดฝัก หรือเมื่อเจอลมพายุ ทำให้ต้นข้าวโพดล้ม ไม่ได้ผลผลิต อีกทั้งปัจจุบันมีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด Fall armyworm ผลผลิตจึงได้น้อยเมื่อเทียบกับข้าวโพดพันธุ์อื่น ๆ เกษตรกรจึงหันไปปลูกข้าวโพดพันธุ์อื่นควบคู่ไปกับข้าวโพดแปดแถว และเกษตรกรบางรายก็เลิกปลูกไปเพราะเห็นว่าดูแลรักษายาก   ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดแปดแถวนั้นเหลืออยู่ไม่มาก เกษตรกรจึงได้นำภูมิปัญญาในการเก็บเมล็ดพันธุ์มาใช้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ของข้าวโพดแปดแถวให้ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปในพื้นถิ่น

  ปัจจุบันเกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดแปดแถวจำนวนสมาชิก 31 รายพื้นที่ปลูก 112.50 ไร่ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ “ข้าวโพดแปดแถวราชบุรี” โดยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดปีละกว่า 1.7 ล้านบาท เฉลี่ยผลผลิต 1,000 กก./ไร่ ปีหนึ่งปลูกได้  3-4 รอบ  จำนวนสมาชิก 31 รายพื้นที่ปลูก 112.50 ไร่  รายได้เฉลี่ยไร่ละ 15,000 บาท

 นางธัญธิตา    กล่าวอีกว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี มีแผนดำเนินการจัดเวทีถอดบทเรียนตามขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จำนวน 4 เวที ได้แก่ เวทีที่ 1 เพื่อค้นหาองค์ความรู้ และปรับกระบวนทัศน์ เวทีที่ 2 เพื่อวิเคราะห์ชุมชนและร่วมกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาภูมิปัญญาฯ  เวทีที่ 3 เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาอัตลักษณ์พื้นถิ่นจากภูมิปัญญาของชุมชน และกลไกขับเคลื่อนของชุมชน และ เวทีที่ 4 เพื่อสรุปบทเรียน คืนข้อมูลสู่ชุมชน และร่วมกันวางแผนเชื่อมโยงแผนพัฒนากับเครือข่ายต่าง ๆ ในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมชาวบ้านเพื่อสร้างคุณค่าและรายได้จากสินค้าและบริการอัตลักษณ์ของชุมชนต่อไป